ครูพักลักจำ สรรพนามที่คนโบราณสร้างขึ้นเพื่อขจัดบาปกรรมล่วงศีล
ครู เป็นคำไทยโบราณซึ่งมีที่มาจากคำว่า คุรุ แปลว่า ผู้รู้ ครูจึงต้องเป็นผู้มีความรู้มาถ่ายทอดสั่งสอนศิษย์ ต่างจากบริบทในสมัยนี้ที่ไทยเราไปรับอิทธิพลการเรียนแบบฝรั่งบอกว่า เน้นให้นักเรียนคิด ครูไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ อันนี้ขอบอกก่อนเลยว่า มาผิดทางอย่างมหันต์ ในเมื่อไม่มีความรู้และจะไปชี้ถูกผิดแนะนำแนวทางที่ถูกต้องให้นักเรียนทราบและเข้าใจได้อย่างไร การกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดในระบบการศึกษาตะวันตกคือ ครูเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ตัวเองสอน แล้วโยนคำถามเพื่อให้นักเรียนกลับไปคิดและทดลอง เมื่อนักเรียนให้คำตอบคืนมา ครูคนนั้นจะทราบได้ทันทีว่า ระบบการคิด สติปัญญา และทักษะความสามารถของนักเรียนคนใดเป็นอย่างไร
อธิบายได้ง่ายๆคือ เอาคนฉลาดถามคำถามผู้เรียน สิ่งที่ได้จะได้ทั้งความรู้และนิสัยใจคอของผู้เรียน จะได้ปรับการเรียนการสอนให้เหมาะ แต่ถ้าเอาคนไม่ฉลาดตั้งคำถามผู้เรียน สิ่งที่ได้นั้น ไม่มีครับ มีก็แต่ว่าได้คิด คิดออกมาแล้วคำตอบก็ยังไม่ทราบว่า อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง หรือมาผิดแนวทาง เพราะนักเรียนไม่อาจจะเรียนแล้วตอบถูกเป้าได้เสมอ แต่ครูที่ฉลาดจะมองออกว่าที่นักเรียนให้คำตอบมา อยู่ในแนวทางกระบวนการที่ถูกต้องหรือไม่ ครูสมัยนี้ก็ไปเข้าใจแนวทางตัวนี้ผิดอีกหละ ไปเข้าใจกันแบบผิดๆว่า คิดอะไร พูดอะไรก็ได้ ขอให้นักเรียนได้คิด ได้แสดงออก การไปตำหนิ หรือบอกทางชี้ถูกชี้ผิดนั้น เป็นการบั่นทอนกำลังใจคนเรียน นักเรียนไทยเราเลยถูกฝึกให้แก้ปัญหาในโจทย์ข้อสอบ และโจทย์ชีวิตแบบที่แก้ยังไงก็ได้ แก้แบบไหนก็ได้ ขอให้รอด กลายเป็นสภาวะที่เราเห็นบนท้องถนนทุกวันคือ การขับรถแบบขอให้ฉันได้ไปก่อน ส่วนใครจะเดือดร้อนรถติดนั้น ไม่ใช่โจทย์ที่ฉันต้องไปแก้
จึงมีความจำเป็นที่ต้องยกคำเดิมมาพูด คือ คำว่า คุรุ ผู้เป็นครูต้องมีความรู้ และแนะนำแนวทางในด้านความรู้และการใช้ชีวิตไปพร้อมๆกัน คุณสมบัติแทบจะเทียบเท่ากับ พ่อแม่ โบราณท่านเลยเรียกว่า พระคุณที่สาม คือ พระคุณแม่ที่หนึ่ง พระคุณพ่อที่สอง พระคุณครูที่สาม หรือบางคนกล่าวว่า คุณพระรัตนตรัยที่หนึ่ง คุณพ่อแม่ที่สอง คุณครูบาอาจารย์ที่สาม ผมไม่อยากให้ครูไม่มีคุณภาพปลอบใจตัวเองด้วยคำพูดว่า ทำดีที่สุดได้แค่นี้ งานเยอะ ขอเป็นอาจารย์ไม่ขอเป็นครู ให้ความรู้แล้วก็จบกัน เพราะมันไม่จบครับ นักเรียนที่คุณสร้างออกไปนอกรั้วโรงเรียนอาจโตมาเป็นตำรวจไม่ดีที่มาเรียกเก็บส่วยจากคุณก็ได้ อาจเป็นข้าราชการกินใต้โต๊ะที่คุณต้องยอมจ่ายก็ได้ ทำไมไม่สอนเสียตั้งแต่ตอนที่เด็กยังไม่มีเขี้ยวเล็บ
ถ้าเราให้ความหมายคำว่า ครู หมายถึง ผู้ให้ความรู้ ก็อาจะแบ่งครูได้ สามแบบ คือ ครูผู้สอน ครูตำรา และครูพักลักจำ
ครูผู้สอนคือ เราได้รับการสั่งสอนจากท่านโดยตรง ส่วนอีกสองประเภทหลัง บางทีเราอาจจะไม่ได้เจอท่านโดยตรงก็ได้ เช่น ครูตำรา หมายถึง หนังสือ ตำรา ที่เราอ่าน โบรารท่านเลยตั้งกฎ ไม่วางตำรากับพื้น ไม่เดินข้ามตำรา ไม่เอาตำรามานอนหนุน
เพราะให้ความเคารพเสมอหนึ่ง ครูบาอาจารย์ ถือว่าคำสอนที่ถ่ายทอดเป็นอักษรเป็นตัวแทนของครู
ครูพักลักจำ เป็นสรรพนามที่คนโบราณตั้งไว้เตือนสติ เพื่อไม่ให้เราเผลอทำบาปข้อ 4 ในศีลห้า คือ การไปถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า งดเว้นจากการลักขโมย
หากเราถือว่าความรู้เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ย่อมมีเจ้าของ การได้ความรู้อะไรมาก็แล้วแต่ที่เจ้าของเขามิได้ยินดีถ่ายทอด หรือพูดเป็นการบรรยายสาธารณะที่แสดงเจตนาไม่หวงกัน อันนี้เรียกว่า เราได้ไปขโมยความรู้เขามา ยิ่งสมัยนี้ทำได้ง่าย ทั้งการถ่ายภาพ การบันทึกเสียง บันทึกภาพเคลื่อนไหว เหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เป็นบาปหยดน้ำใส ที่หยดไปทุกวันๆ ย่อมเต็มโอ่งขนาดใหญ่ได้ แต่คนเราไม่ค่อยรู้สึกกันว่าเป็นบาป นึกว่าน่าจะทำได้
โบราณท่านจึงสร้างธรรมเนียมการ ขออนุญาต หรือคำว่า ขอโอกาส สำหรับพระภิกษุใช้กัน ถ้าท่านให้อนุญาต หรือให้โอกาส แล้วถือว่าไม่เป็นการขโมยอะไร หรือล่วงเกินอะไรกัน ไม่เป็นการผิดศีล เพราะเป็นของที่เจ้าของเขา อนุญาติให้แล้ว
คนโบราณท่านยังสร้างสรรพนาม ครูพักลักจำ เพื่อให้สำนึกเสมอว่า เราไม่ใช่ขโมย แต่เราได้ความรู้มาด้วยความไม่เจตนาแต่ก็ได้ล่วงรู้เข้าเสียแล้ว สำคัญที่ต้องไม่มีเจตนาจะไปขโมยวิชาเขาก่อนนะ ถึงเรียกว่า ครูพักลักจำ เช่น ไปยืนดูท่านปรุงอาหาร หรือปรุงยาด้วยความสนใจและท่านก็ให้ดู เรากลับมาปรุงเองได้ หรือที่เกิดบ่อยสุดคือ ครูพักลักจำตำรับยา หรือ พระคาถา
สมัยเด็กเวลาผมจะไปเข้าค่าย ต้องไปค้างแรมที่อื่น คุณพ่อจะเรียกมาบนห้องพระ ที่หน้าหิ้งพระท่านจะบอกให้ประนมมือ และสวดพระคาถาให้ว่าตามท่าน ผมเคยถามว่า พ่อได้มาจากไหน คุณพ่อบอกว่าได้มาจาก ครูบาแดง สมัยที่มีการเรียกเกณฑ์ทหารกันเยอะๆ นายคนหนึ่งมากราบครูบาเพราะไม่อยากไปเป็นทหาร ครูบาจึงให้คาถานี้ ท่านเลยสอนคาถานี้ให้ชายคนนั้น คุณพ่อซึ่งตอนนั้นบวชเรียนตามจารีตคนโบราณที่เมื่อเรียนจบก็จะบวชกัน ก่อนทำงาน เพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ท่านก็เลยได้ยินเข้า และจดจำได้ จึงเอามาใช้ต่อ เพราะครูบาบอกว่า เป็นคาถาทางแคล้วคลาดทั้งหมด ใช้ได้สัปป๊ะ แปลว่า ใช้ได้ทั้งหมด ใช้ได้สารพัดช่อง ครูบาแดงท่านไม่ค่อยสร้างวัตถุมงคลด้วยระบบการสร้างวัตถุมงคลของคนสมัยก่อนจะทำเพื่อแจก และเลือกให้เป็นรายคน เรียกว่า มีเงินแต่ไม่มีวาสนาก็ไม่มีทางได้ แต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คนแย่ง จีวรเก่าของท่านจนต้องตัดแจกกัน ได้กันชิ้นละประมาณ 1 เซนติเมตร คือ เมื่อครูบาท่านมรณภาพ ศพท่านไม่เน่าเปื่อย แต่ไม่เท่านั้นสิครับ จู่ๆวิหารวัดซึ่งตั้งศพครูบาไว้ เกิดไฟไหม้ วอดดำทั้งหลัง ลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐผมจำได้ ภาพวิหารคือ ซากดำๆเหลือแต่ตอ และในกองตอตะโกสีดำนั้น มีร่างครูบาพร้อมจีวร ที่ไม่ไหม้ไฟ ผ้าจีวรที่ควรจะติดไฟได้กับร่างธาตุขันธ์ของท่านที่ควรเป็นธุลีไปพร้อมกับกองไฟขนาดเผาวิหารได้ กลับยังเหมือนเดมิ ดุจดั่งเปลวไฟไร้ความร้อนไปยังงั้นหละ
และเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นเช้านี้ หลังจากผมเดินตามพระอาจารย์บิณฑบาตรเพื่อช่วยถือของที่โยมเอามาใส่บาตร กลับมาถึงกุฏิ ท่านได้เปรยถามพระรูปนึงบนกุฏิผมพอจับความได้ว่า อะกุสะลานัง ธัมมานัง ปะหานายะ, ปะหาน คืออะไร ที่ต้องปะหาน ที่ท่านบอกให้ละ อกุศลธรรม นั้นหนะ ละอะไร
คือแบบว่า บทนี้ผมชอบสวดมาก เป็นบทว่า อริยมรรคมีองค์แปด แจงรายละเอียดว่า มรรคแปดแต่ละข้อมีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง แล้วปรากฎว่าหลายวันนี้นี้กลุ้มใจมาเป็นเดือนกับบางเรื่อง คือดูดวงชะตาตัวเองก็เป็นไปตามนั้น แต่อย่างว่าครับ มันเป็นตามดวง แต่ไม่เป็นไปตามใจเรา ไม่สมใจนะหละ
เช้านี้พอได้ฟังละคิดตาม อ้อออ…
ท่านให้ละ อกุศลธรรม คือ การทำใจไม่ให้หวั่นไหวกับ โลภ โกรธ หลง การรักษาใจไม่ให้ อกุศลธรรมมาทำให้เป็นทุกข์
เรามัวแต่คิดหาทางออกปัญหา ใช้แต่ความคิด คือ สังขารขันธ์ จนลืมรักษาจิตตนเองให้สงบเหมือนเดิม แล้วก็มาบ่นทั้งเดือนว่า รู้ดวง เป็นไปตามดวง แต่ทุกข์ ทุกข์จริงๆเพราะไม่ได้ดั่งใจ ก็เพราะเราไม่รักษาใจ
Comentarios