top of page
รูปภาพนักเขียนหมอซินแส

ความสัมพันธ์ ระหว่าง หยิน-หยาง ตามทฤษฎี แพทย์แผนจีน

บทความนี้ ผมไม่ได้เขียนขึ้นเองครับ แต่เห็นความมีคุณค่าไม่อยากให้สูญหาย และอยากช่วยเผยแพร่ จึงได้ copy มาไว้ ณ ที่นี้ ขออนุญาตเ้จ้าของบทความมา ณ ที่นี้ด้วย หากทำไม่ถูกต้องประการใด โปรดแจ้งได้ที่ chineseastrologer@hotmail.com

ความสัมพันธ์ ระหว่าง หยิน-หยาง ตามทฤษฎี แพทย์แผนจีน

yin-yang

        ท่านผู้อ่านทั่วไปมักจะมีข้อข้องใจว่า ยินหยาง คืออะไร  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายเรามี ยินหยาง มากน้อยแค่ไหน  ยินและหยาง มีความหมายที่กว้างมาก ไม่ใช่คำจำกัดความที่ว่า ยินคือเย็น  หยางคือร้อน  แต่ ยินหยาง ดำรงอยู่ในธรรมชาติทุกๆอย่าง และทุกถิ่นที่  ทุกอณูในร่างกายคน

ยิน-หยาง เป็นทฤษฎีที่อธิบายว่า การเกิด การพัฒนา และการเปลี่ยนแปลง ของสรรพสิ่งทั้งมวลนั้น  เกิดจากบทบาทของพลังตรงข้ามที่มีต่อกันสองสิ่ง ที่ดำรงอยู่ในโลกธรรมชาติทุกแห่ง

ฟ้าเป็นหยาง  ดินเป็นยิน พระอาทิตย์เป็นหยาง  เพราะให้ความส่องสว่าง  ให้ความร้อน  เป็นกลางวัน พระจันทร์เป็นยิน เป็นกลางคืนแม้จะมีแสงสว่างแต่ก็ไม่ใช่แสงของตัวเอง จึงไม่มีความร้อน  ไฟเป็นหยาง  น้ำเป็นยิน  ในการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่ง  ด้านนอก  ขึ้นบน  ร้อน  อบอุ่น  สมรรถนะเฟื่องฟูเป็นหยาง    หนาว  เย็น  มืดมน  สมรรถนะเสื่อมทรุด  เซื่องซึม  ขุ่นคล้ำ  เชื่องช้า  สงบ  เป็นยิน   จึงมีคำล้อเล่นกันในหมู่แพทย์จีนว่า  ผู้ที่คล่องแคล่วรวดเร็วว่องไว   ขยันขันแข็ง  ใจร้อน   ขี้โมโห  หน้าแดง  จะเรียกเขาว่าคนหยางเยอะ   คนที่ขี้เกียจ  ชอบนอน  เชื่องช้า  ใจเย็น   จะเรียกเขาว่าคนยินเยอะ  ซึ่งก็มีส่วนจริงแต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด


        ในร่างกายคน  ผู้ชายเป็นหยาง  ผู้หญิงเป็นยิน  ร่างกายส่วนบนเป็นหยาง  ส่วนล่างเป็นยิน  อวัยวะกลวงเป็นหยาง  อวัยวะตันเป็นยิน  ในอวัยวะทั้ง  ๕  ตับและหัวใจเป็นหยาง  ปอด  ม้าม  ไต  เป็นยิน  ในระบบเส้นลมปราณ  เส้นหลัก  ๑๒  เส้น  แบ่งเป็นเส้นยิน  เส้นหยาง  ยินมือ  ๓  เส้น  หยางมือ  ๓  เส้น  ยินเท้า  ๓  เส้น  หยางเท้า  ๓  เส้น

ยิน-หยาง จะมีลักษณะตรงกันข้ามและควบคุมกัน  มีลักษณะร่วมกันและพึ่งพาเป็นรากเดียวกัน  มีลักษณะเพิ่มลดเพื่อคงความสมดุล  มีลักษณะแปรเปลี่ยนสู่กันและกัน  ทฤษฎี ยิน-หยาง มีความลึกซึ้งและสลับซับซ้อน  และมีคุณค่าอย่างยิ่งในการยึดถือเป็นหลักใน การแพทย์แผนจีน  รวมทั้งการดูแลสุขภาพตามหลั กแพทย์แผนจีน ของผู้คนทั่วไปด้วย    ถ้ายินสงบหยางเข้ม(แข็ง)   ร่างกายก็สมดุลแข็งแรง  ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

การเกิด  การพัฒนา  และตลอดกระบวนการของโรค  นอกจากเป็นการต่อสู้ระหว่างพิษภัยจากภายนอกกับภูมิต้านทานของร่างกายแล้ว  สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง  คือ  การเสียดุลของ ยิน  หยาง ทำให้เกิดภาวะยินหรือหยางมากเกินไป  เรียกว่า  “แกร่ง”  และภาวะที่ยินหรือหยางน้อยไป  เรียกว่า “พร่อง” การที่ ยิน-หยาง ไม่สมดุลส่งผลต่อร่างกาย  ดังนี้

ยิน-หยางโน้มไปทางมากเกินไป หยางมากเกินไปเกิดร้อนเช่นไข้สูง  เหงื่อออก  กระสับกระส่าย  กระหายน้ำ  ท้องผูก  หน้าแดง  ขี้ร้อน  เสียงดังฟังชัด  รวดเร็วว่องไว   ภาษาจีนจะเรียกว่า “ร้อนแกร่ง”    ยินมากเกินไปจะเกิดหนาว  เช่น  ปวดท้อง  นอนขด  ชีพจรคลำไม่ค่อยเจอ  ตัวเย็น  หนาวสั่น  มือเท้าเย็น ยิน-หยางโน้มไปทางน้อยเกินไป  หยางน้อย  หรือหยางพร่อง  เกิดหนาว  มีอาการหน้าซีดขาว  มือเท้าเย็น  อ่อนล้า  กลัวหนาวเหงื่อออกเอง  ภาษหมอจีนเรียกว่า “หนาวพร่อง”    ยินน้อยหรือยินพร่องเกิดร้อน  จะเกิดกับผู้ป่วยเรื้อรังนาน  วัยทอง  ผู้สูงอายุ  เนื่องจากยินสึกหรอมาก  จะมีอาการเหงื่อออกกลางคืน  อุ้งมืออุ้งเท้าร้อน  กลางอกร้อน  ปากคอลิ้นแห้ง  ชีพจรเล็กเร็ว  ภาษาหมอจีนเรียกว่า “ร้อนพร่อง” กรณีที่พร่องทั้งยินและหยาง  จะมีอาการหนาวเป็นสำคัญ  ส่วนอาการยินพร่องก็มีให้เห็นแต่เป็นรอง คำอธิบายเหล่านี้ นำมาซึ่งแนวในการ “ดูแลสุขภาพ” โดยใช้หลักการ “ลดทอนด้านที่เกิน” “ใช้ร้อนรักษาเย็น” “บำรุงด้านที่ขาด” โดยเรามักจะกินผักผลไม้ที่มีรสเย็น  เพื่อดับร้อนและหิวกระหาย  กินยาขมแก้ร้อนใน  เป็นต้น

ยิน-หยางยังครอบคลุมไปถึงรสของอาหารและยา  ซึ่งมีทั้งรสเผ็ด  หวาน  เปรี้ยว  ขม  เค็ม  จืด  และฝาด  ซึ่งจำแนกได้  ดังนี้ เผ็ด-หวาน-จืด  สังกัดหยาง  เปรี้ยว-ขม-เค็ม-ฝาด  สังกัดยิน  เช่น  อาหารรสเผ็ด  ประเภท  พริก  ขิง เวลาถูกฝนกลับมาบ้าน  ต้มน้ำขิงดื่มจะช่วยไม่ให้เป็นหวัด  หน้าร้อนถ้าชงชาใบหม่อนหรือเก๊กฮวยดื่มบ่อยๆ จะช่วยดับร้อนได้  เครื่องต้มยำเป็นหยาง มีฤทธิ์กระจาย  จึงรักษาหวัดได้  ผลไม้รสฝาดจะช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง  อาหารรสจืดจะช่วยระบายปัสสาวะ  หรือทำให้ถ่ายอุจจาระสะดวก  เป็นต้น

ธาตุทั้ง 5  ธาตุทั้ง5  หมายถึงวัตถุ  5  อย่างที่มีอยู่ในธรรมชาติประกอบด้วย  ไม้  ไฟ  ดิน  โลหะ  น้ำ  อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ดังคำกล่าวที่ว่า  “ดินเป็นที่เกิดของสรรพสิ่งทั้งมวล  น้ำและไฟเป็นแหล่งให้อาหาร  ไม้และโลหะเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้สร้าง”   ทฤษฏีธาตุทั้ง 5 เป็นการนำเอาธาตุต่าง ๆในธรรมชาติมาเชื่อมโยงกับวัตถุต่าง ๆและอวัยวะในร่างกายคน

5 elements

ธาตุไม้    ในธรรมชาติเป็นฤดูใบไม้ผลิ  มีสีเขียว  มีรสเปรี้ยว  ทิศตะวันออก  ลมเริ่มเกิด  ธาตุไม้ในร่างกายคน  หมายถึง  ตับและถุงน้ำดี  ตับเปิดประตูที่ตา  ควบคุมเส้นเอ็นควบคุมอารมณ์และความโกรธ  เสียงของตับคือการตะโกน  น้ำของตับคือน้ำตา  ดังนั้น  ถ้าเราเองตับไม่ค่อยแข็งแรงทานรสเปรี้ยวมากๆก็จะทำให้ตับยิ่งทำงานหนัก  หรืออารมณ์ที่ฉุนเฉียว โกรธง่ายเจ้าอารมณ์ก็จะทำให้ชี่ของตับสับสน  ทำให้เกิดเป็นโรคความดันสูงและอัมพฤกษ์ได้ง่าย   หรือการแสบตา น้ำตาไหลง่ายก็ต้องมาดูแลกันที่ตับให้มากๆ  เป็นต้น ธาตุไฟ  ในธรรมชาติเป็นฤดูร้อน  สีแดง  รสขม  ทิศใต้  อบอ้าว  เจริญเติบโต  ในร่างกายคน  หมายถึง  หัวใจ  และลำไส้เล็ก  เปิดประตูที่ลิ้น  ควบคุมหลอดเลือด  เสียงคือหัวเราะ  อารมณ์คือดีใจ  น้ำของหัวใจคือเหงื่อ    ดังนั้น  ความร้อนที่ร้อนจัดทำให้ใจสั่นหวิวเป็นลมได้ง่าย   ถ้าหัวเราะหรือดีใจจนเกินไปก็ทำให้ทำลายหัวใจทำให้เป็นบ้าได้   เหงื่ออกมาก  หรือเหงื่อออกที่ฝ่ามือมากก็สะท้อนถึงความแข็งแรงของหัวใจเช่นกัน ธาตุดิน  ในธรรมชาติเป็นฤดูฝน  สีเหลือง  รสหวาน  ตรงกลางร้อนอบอ้าว  แปรเปลี่ยนอยู่เสมอ (หรือย่อยสลาย)  อากาศชื้น ในร่างกายคน  หมายถึง  ม้าม  และกระเพาะ  เปิดประตูที่ปาก  ควบคุมกล้ามเนื้อ  เสียงคือร้องเพลง  อารมณ์คือครุ่นคิด  น้ำของม้ามคือน้ำลาย    ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงเราจึงมักเริ่มต้นวางหลักการรักษาจากการดูแลเรื่องม้าม   หรือบางทีม้ามไม่แข็งแรงนอนกลางคืนมักเป็นคนที่น้ำลายมากหรือน้ำลายไหล   หรือถ้าครุ่นคิดตรองไม่ตกเป็นเวลานานม้ามก็จะเริ่มสับสนกระทบไปถึงการย่อยและการลำเลียงอาหารเลยไปถึงกระทบหัวใจจนนอนไม่หลับได้          ธาตุโลหะ   ในธรรมชาติเป็นฤดูใบไม้ร่วง  สีขาว  รสเผ็ด  ทิศตะวันตก  การเก็บเกี่ยว  อากาศแห้งแล้วในร่างกายคน  หมายถึง  ปอดและลำไส้ใหญ่  เปิดประตูที่จมูก  ควบคุมผิวหนัง  เสียงคือร้องไห้  อารมณ์คือทุกข์โศก  น้ำของปอดคือน้ำมูก  ในกรณีที่เป็นภูมิแพ้จามมากน้ำมูกเยอะจึงรักษาด้วยการเสริมชี่ของปอดให้แข็งแรง ธาตุน้ำ  ในธรรมชาติเป็นฤดูหนาว  สีดำ  รสเค็ม  ทิศเหนือ  อากาศหนาว  เก็บรักษา  ในร่างกายคนคือไตและกระเพาะปัสสาวะ  เปิดประตูที่หู  ควบคุมกระดูก  เสียงคือครวญคราง  อารมณ์คือกลัว  น้ำของไตคือปัสสาวะ  ดังนั้นในฤดูหนาวจึงต้องรักษาความอุ่นให้กับไต    ถ้าปัสสาวะบ่อยเกินไปหรือปัสสาวะน้อยเกินไปก็ต้องไปดูแลปรับสมดุลที่ไต


ความเกี่ยวพันของธาตุทั้ง5  คือ  การสร้างซึ่งกันและกัน  เช่น  ไม้สร้างไฟ  ไฟสร้างดิน  ดินสร้างโลหะ  โลหะสร้างน้ำ  ธาตุที่เกิดก่อนจะเป็นธาตุแม่  ธาตุที่ถูกสร้างเป็นธาตุลูก  เช่น  ไม้สร้างไฟ    ไม้จึงเป็นธาตุแม่  ไฟเป็นธาตุลูก

ขณะเดียวกันก็มีการข่ม (ซึ่งก็คือการควบคุม) ซึ่งกันและกัน  เพื่อไม่มากเกินไป  ให้คงความสมดุลไว้    ไม้ข่มดิน  ดินข่มน้ำ  น้ำข่มไฟ  ไฟข่มโลหะ  โลหะข่มไม้  เช่นไตเป็นธาตุน้ำช่วยควบคุมไฟของหัวใจให้สมดุลคงไว้ซึ่งความร้อนเย็นให้พอดี      การสร้างและการข่มเป็น  2  ด้านที่ไม่อาจแยกจากกัน  ไม่มีการสร้างก็ไม่มีสรรพสิ่ง  ไม่มีการเจริญเติบโต  หากไม่มีการข่ม ก็ไม่สามารถควบคุมการพัฒนา แปรเปลี่ยนให้เกิดความพอดี  นี่คือ  “กฎเกณฑ์การสร้างและการข่ม”  ธาตุทั้ง5  เช่นน้ำต้องดับไฟ   แต่ถ้าน้ำน้อยก็ไม่สามารถดับไฟได้  ไฟคือหัวใจ   ต้องมีน้ำของไตมาดับสร้างความสมดุลไว้   หัวใจจึงสงบไม่หงุดหงิด  นอนหลับสบายไม่ฝันมาก    แต่ถ้าไตยินอ่อนแอน้ำน้อยดับไฟหัวใจไม่พอ  ทำให้หงุดหงิด  ใจสั่น  นอนไม่หลับกระสับกระส่าย   จึงต้องบำรุงไตยินเพื่อเสริมน้ำไปช่วยดับไฟในหัวใจลง  อาการโรคหัวใจก็จะสงบลงได้  และนอนหลับสบาย    บางครั้งผู้สูงอายุบางท่าน เมื่อใช้ยาเสริมไตยินแล้วจะนอนหลับดีขึ้นได้ ในกรณีที่ไตยินพร่องจนทำให้นอนไม่หลับ   หรือให้ทานยาเสริมยินหัวใจก็จะทำให้นอนหลับสบายขึ้นในกรณีที่ยินหัวใจอ่อนแอ  เป็นต้น

เมื่อรู้กฎเกณฑ์นี้แล้วก็จะเข้าใจได้ว่า  เมื่ออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเป็นโรคย่อมกระทบอวัยวะที่เกี่ยวข้อง  ทั้งการสร้างและการข่มได้ทั้งนั้น  เช่นเมื่อไตยินพร่อง  ก็จะทำให้ตับยินพร่องด้วยเพราะตับเป็นลูกของไต  กลายเป็นตับและไตยินพร่อง  ยินหยางในตับเกิดการเสียดุล  ตับหยางจึงมากเกินไป  เกิดเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือเป็นอัมพฤกษ์  การรักษาก็ต้องบำรุงไตยิน  ซึ่งเป็นการบำรุงแม่ขณะเดียวกันก็ลดหยางของตับลงด้วย

จึงมีคำสอนที่ว่า  “พร่องบำรุงที่แม่  แกร่งขับที่ลูก” เช่นไตเป็นแม่ของตับ  เมื่อตับอ่อนแอเราก็ใช้วิธีบำรุงไตเพื่อรักษาตับได้เช่นกัน   แกร่งหมายถึงมากเกินไป  อย่างเช่นตับเป็นแม่ของหัวใจ  เมื่อไฟตับสูงจนเกินไปเราก็จะใช้ยาที่มีฤทธิ์ขับร้อนในหัวใจเพื่อช่วยรักษาไฟตับ  เป็นต้น หรือใช้หลักนี้ค้นพบโรคได้เร็วขึ้น  เช่น  ผู้ป่วยผอม  หน้าเหลืองคล้ำ  ปากมีรสหวาน  ฝ้าลิ้นหนาเขรอะ  เบื่ออาหาร  ก็จะรู้ได้เลยว่าเกิดจากม้ามและกระเพาะ  ต้องดูแลม้ามและกระเพราะ    หรือจะกินอาหารให้ครบธาตุก็ต้องกินอาหารทั้งสีเขียว  สีแดง  สีเหลือง  สีดำ  และสีขาว  อาศัยหลักนี้มาดูแลสุขภาพอย่างได้ผล

เรามาดูเรื่องการข่ม ตามลูกศร  ตับข่มกระเพาะและม้าม    ม้ามข่มไต   ไตข่มหัวใจ   หัวใจข่มปอด    ปอดข่มตับ   เป็นการข่มปรกติทางสรีระเพื่อควบคุมกันและกัน  เช่น  ไตข่มหัวใจ  ไตเป็นน้ำช่วยควบคุมไฟหัวใจไม่ให้แรงเกินไป เป็นต้น   นอกจากนั้นยังมีข่มเกินข่มกลับอีก   เช่นในกรณีชี่ของตับสับสน หรือมากเกินไปข่มม้ามและกระเพาะมากกว่าปรกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด  เสียดแน่น    ทานข้าวไม่ได้   หรือเนื่องจากกระเพาะและม้ามอ่อนแอ  ชี่ของตับก็เป็นปรกติธรรมดาแต่ก็ทำให้ข่มกระเพาะและม้ามมากเกินไป  กระเพาะยิ่งหนักขึ้น   ดังนั้นในการรักษาโรคตับเราจึงเน้นหนักในการรักษาม้ามให้แข็งแรงโรคตับก็ค่อยๆทุเลาลงได้   หรือการรักษาโรคกระเพาะ เราก็เสริมการปรับชี่ของตับร่วมด้วยก็จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน ความเป็นองค์รวมของอวัยวะต่างๆในร่างกายแสดงออกที่ความสัมพันธ์ ธาตุทั้ง5 ให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นนี้แหละที่เป็นเสน่ห์ของแพทย์แผนจีนในการรักษาแบบองค์รวม  ให้เราต้องค้นหาวิธีมาปรับความสมดุลของร่างกายโดยรวมอย่างได้ผลจากรากฐานโดยแท้จริง

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

ลูกตุ้มโมเมนตั้ม ช่วยในเรื่องของฮวงจุ้ยในการอ่านหนังสือได้

จากคำถามที่มีผู้ถามมาว่า ขออนุญาตสอบถามเกี่ยวกับ ลูกตุ้มโมเมนตั้ม นะคะ คือดิฉันไปได้ยินมาว่า สามารถช่วยในเรื่องของฮวงจุ้ยในการอ่านหนังส...

เลขมงคลประจำยุคนี้

พูดตรงๆนะ ผมไม่ใช่คนเรียบร้อยผ้าพับไว้ ผมไปเห็นบางคนบางท่านผมก็ยังนึกดีใจ ชื่นชม และบางทีก็ละอายใจ ว่า เขาเรียบร้อย หรือ...

Comentarios


bottom of page