เทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ ที่เรียกว่า ชุนเจี๋ย (春节) หรือ ตรุษจีน ถือเป็นประเพณีเฉลิมฉลอง วันขึ้นปีใหม่ ที่ยิ่งใหญ่ของชนชาวฮั่น (จีนมีหลายชนเผ่าประมาณ 50 กว่าชนเผ่า โดยที่ประชากรส่วนใหญ่กว่าค่อนประเทศคือชาวฮั่น) และยังถือเป็นการเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกด้วย โดยกำหนดให้วันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ในอดีตช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง จะเริ่มตั้งแต่พิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าเตาไฟในวันที่ 23 หรือ 24 ของปีเก่า จนถึงเทศกาลหยวนเซียวหรือเทศกาลโคม (แรม 15 ค่ำเดือนอ้าย) โดยแต่ละช่วงจะมีพิธีกรรมธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกัน บางส่วนยังคงสืบทอดกันมาถึงยุคปัจจุบัน ขณะที่บางส่วนได้เลือนหายไป หรือแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
‘คืนส่งท้ายปีเก่า 除夕夜’ ชาวจีนมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับ “ฉูซีเยี่ย (除夕夜)” หรือ คืนส่งท้ายปีเก่าว่า ในยุคโบราณสมัยที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ มีสัตว์ประหลาดที่ดุร้ายมากตัวหนึ่ง ชื่อว่า “เหนียน (年)” ทุกปีในคืนวันส่งท้ายปี จะขึ้นจากทะเลมาอาละวาดทำร้ายผู้คนและทำลายเรือกสวนไร่นา ในวันนั้นของทุกปีชาวบ้านจึงมักจะหลบกันอยู่แต่ในบ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่มืด ปิดประตูหน้าต่างแน่นหนา และไม่หลับไม่นอนเพื่อเฝ้าระวัง รอจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นจึงเปิดประตูออกมา และกล่าวคำยินดีแก่เพื่อนบ้านที่โชคดีไม่ถูก “เหนียน” ทำร้าย ในคืนส่งท้ายปีของปีหนึ่ง “เหนียน” ได้เข้าไปอาละวาดในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กินชาวบ้านจนเรียบ ยกเว้นคู่บ่าวสาวที่เพิ่งแต่งงาน เนื่องจากสวมชุดสีแดงจึงปลอดภัย และเด็กคนหนึ่งที่กำลังเล่นประทัดอยู่กลางถนน ซึ่งเสียงดังจนทำให้ “เหนียน” ตกใจกลัวหนีไป ชาวบ้านจึงรู้จุดอ่อนของ “เหนียน” ดังนั้น เมื่อถึงคืนส่งท้ายปีเก่า ชาวบ้านจึงพากันสวมใส่เสื้อผ้าสีแดง นำสิ่งของที่มีสีแดงมาประดับตกแต่งบ้านเรือน และจุดประทัด ทำให้ “เหนียน” สัตว์ประหลาดตัวร้ายไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ชาวบ้านจึงอยู่กันอย่างสงบสุข จากนั้นมาจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติ ในคืนส่งท้ายปีจะไม่ยอมนอนเพื่อ “เฝ้าปี” หรือเรียกในภาษาจีนว่า โส่วซุ่ย(守岁) เฝ้าดูปีเก่าล่วงไปจนวันใหม่ย่างเข้ามา ในคืน “เฝ้าปี” สมาชิกในบ้านมีกิจกรรมร่วมกันมากมาย ทั้งด้านการกินและดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารทั่วไป เกี๊ยว เหนียนเกา เหล้า เบียร์ เมล็ดแตง ของว่าง การเล่นเกม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เล่นกันในห้องรับแขก เช่นผู้ใหญ่ก็เล่นหมากล้อม หมากฮอร์ส ไพ่กระดาษ ไพ่นกกระจอก ส่วนเด็กๆ ก็มีเกมแบบเด็กๆ เช่น ขี่ม้าไม้ไผ่ วิ่งไล่จับ ซ่อนแอบ กระทั่งใกล้เวลาเที่ยงคืน ผู้อาวุโสในบ้านก็จะเริ่มตั้งโต๊ะเพื่อจัดเรียงธูปเทียนไหว้บรรพบุรุษ และต้อนรับเทพแห่งโชคลาภ นอกจากนั้นก็ยังมีการจุดประทัด จุดโคมไฟ ซึ่งเมื่อใกล้เวลาเที่ยงคืนเท่าไหร่ เสียงประทัดก็ยิ่งดังมากขึ้นเท่านั้น กระทั่งรุ่งอรุณแรกของปี ก็จะสวัสดีปีใหม่กัน กินเกี๊ยว เพื่อความเป็นสิริมงคล
‘เหนียนเยี่ยฟ่าน (年夜饭)’ มื้อส่งท้ายปีเก่า ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน (年夜饭)’ หมายถึงอาหารค่ำของคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญก่อนขึ้นปีใหม่ ที่ชาวจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมักไหว้บรรพบุรุษ และจุดประทัดกันก่อนที่จะลงมือรับประทานอาหารมื้อพิเศษนี้ ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ มีความพิเศษ ตรงที่เป็นมื้อใหญ่ที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกวัยและทุกเพศจะพร้อมหน้าพร้อมตาล้อมวงร่วมรับประทานอาหารกัน สมาชิกที่แยกไปอยู่ที่อื่นจะพยายามกลับมาให้ทันวันส่งท้ายปี แต่หากกลับมาไม่ได้จริงๆ ครอบครัวจะเว้นที่ว่างพร้อมวางชามและตะเกียบไว้เสมือนหนึ่งว่ามากันครบ หลังจากทาน ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ เสร็จแล้ว ผู้ใหญ่จะให้ ‘ยาซุ่ยเฉียน (压岁钱)’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘อั่งเปา’ แก่เด็กๆ ความพิเศษของ ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ ยังอยู่ที่อาหารหลากหลาย ให้สมาชิกที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งปี ได้ผ่อนคลายร่วมทานอาหารอย่างมีความสุขอยู่กับครอบครัวในคืนสุดท้ายของปี
ขณะที่ชื่อของอาหารที่นำมาตั้งโต๊ะยังแฝงไว้ด้วยความหมายที่เป็นสิริมงคล จานบังคับที่ทุกโต๊ะต้องมีคือ ‘จี’ (鸡 ไก่) และ ‘อี๋ว์’(鱼 ปลา) แทนความหมาย ‘จี๋เสียงหยูอี้ (吉祥如意 เป็นสิริมงคลสมดังปรารถนา)’ และ ‘เหนียนเหนียนโหยวอี๋ว์ (年年有余 มีเงินทองเหลือใช้ทุกปี)’ ส่วนที่ไต้หวันยังนิยมทานลูกชิ้น หมายถึงการกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา (ถวนเหยวียน-กลมเกลียว) นอกจากนี้ ยังมี ‘จิ่วไช่ (韭菜 ผักกุ้ยช่าย)’ ที่หมายถึงอายุมั่นขวัญยืน (年寿长久)สำหรับชาวหมิ่นหนัน ชนกลุ่มน้อยในมณฑลฝูเจี้ยน ทางตอนใต้ของจีน เรียกแครอทในภาษาถิ่นว่า ‘ไช่โถว’ (菜头)แฝงความหมายการเริ่มต้นปีที่ดี (好彩头)และในบางพื้นที่จะกินเกี๊ยว หรือเรียกในภาษาจีนว่า ‘เจี่ยวจือ’ (饺子)ที่มีรูปร่างคล้ายกับเงินแท่งสมัยโบราณที่ปลาย 2 ด้านงอนขึ้น บางครั้งก็ใส่เหรียญเงินไว้ในเกี้ยวด้วย เพื่อบันดาล ‘โชคลาภเงินทอง’ เป็นต้น.
คำ“เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ – ชุนเจี๋ย” เริ่มใช้แต่ใดมา ตรุษจีน ซึ่งถือเป็นวันปีใหม่ของชาวมังกรนั้น จัดว่าเป็นเทศกาลที่มีสืบทอดมายาวนาน โดยในปัจจุบัน จะใช้คำว่าชุนเจี๋ย (春節) หรือ “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” มาเป็นชื่อเรียกวันปีใหม่จีน แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า คำว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” เป็นคำที่ถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อไหร่?
นายเจิ้งอีหมิน รองประธานสมาคมนักศิลปะเอกชน ได้ออกมาระบุผลการตรวจค้นหลักฐานต่างๆพบว่า ในอดีตที่ผ่านมา เทศกาลตรุษจีนถูกขนานนามต่างๆกันไปในแต่ละยุคสมัย หรือแต่ละราชวงศ์ในอดีต เช่นถูกเรียกว่าไก่ซุ่ย (改歲) หรือ “วันเปลี่ยนปี”, หยวนโส่ว (元首) หยวนรื่อ (元日) ที่หมายถึงวันเริ่มต้นแห่งปี
โดยเจิ้งได้ชี้ว่า เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เป็นชื่อที่ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 1911 หรือเมื่อ 96 ปีที่แล้ว โดยรัฐบาลทหารของหูเป่ยเป็นผู้ประกาศ ให้เรียกปีใหม่ของจีนว่า”เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” จนกระทั่งวันที่ 27 ก.ย. 1949 ในขณะที่มีการตัดสินใจจะสถาปนาชื่อสาธารณะรัฐประชาชนจีนขึ้น ก็ได้มีการระบุให้เรียกวันที่ 1 ม.ค. ของทุกปี ที่ถือเป็นวันปีใหม่สากลว่าหยวนตั้น (元旦) หรือวันเริ่มต้นปี ส่วนวันปีใหม่จีน หรือวันตรุษจีนนั้นให้เรียกว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ”
‘วันแห่งการขอบคุณ’
วันตรุษจีนยังเป็นวันที่มีความเกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ ภูมิอากาศ และการเกษตรกรรม โดยในอดีตวันนี้จะเป็นวันที่นำเอาผลผลิตมากราบไหว้บูชาต่อบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งเป็นการแสดงความขอบคุณต่อธรรมชาติและเทพยดาฟ้าดิน
นักวิชาการด้านประเพณีท้องถิ่นของจีนได้ระบุว่า ในแต่ละวันของเทศกาล ต่างเป็นวันแห่งการขอบคุณ ตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 ไปจนถึงขึ้น 7 ค่ำเดือน 1 (ตามปฏิทินทางจันทรคติ) จะถูกขนานนามเป็น “วันไก่” “วันสุนัข” “วันหมู” “วันแกะ” “วันวัว(ควาย)” “วันม้า” และ “วันคน” เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและขอบคุณต่อธรรมชาติ
นอกจากนั้น ในวันตรุษจีน ชาวจีนยังจะกราบไหว้ “เทพเจ้าเตาไฟ” และ “พระแม่ธรณี” เพื่อแสดงความขอบคุณที่ทำให้ชาวโลกได้มีไฟ และมีผืนดินไว้ใช้ประโยชน์ เพียงแต่น่าเสียดายที่ประเพณีเหล่านี้ ได้ค่อยๆจางหายไปตามวิทยาการที่ล้ำสมัยมากขึ้น
นายฮั่วซั่งเต๋อ เลขาสมาคมศิลปะและวัฒนธรรมจีนได้ระบุว่า ในวันตรุษจีน ยังคงถือการกราบไหว้บรรพชนเป็นหลัก โดยในครอบครัวคนจีน มักจะให้หัวหน้าครอบครัว นำพาลูกหลานในบ้าน มากราบไว้บรรพบุรุษกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพราะการกราบไหว้บรรพบุรุษ นอกจากจะเป็นการแสดงความขอบคุณต่อบรรพบุรุษ และขอให้บรรพชนปกปักษ์รักษาแล้ว ยังเป็นการอบรมให้รู้ถึงวัฒนธรรมในครัวเรือน ที่บุพการีควรมีความโอบอ้อมอารี ส่วนลูกหลานก็ควรมีความกตัญญู และพี่น้องก็ควรจะสามัคคีปรองดอง
Comments