ใครที่เป็นคนเชื่อเรื่องดวงชะตา หรือชอบวัฒนธรรมโบราณๆ คงเคยผ่านตากันมาแล้วสำหรับการกำหนดสีเสื้อผ้าให้ใส่กันตามหลักทักษา เช่นว่า วันจันทร์ ใส่เสื้อสีนี้ จะมีเดชมีอำนาจ ใส่สีนี้จะเป็นมูละมีลูกน้องบริวารนับถือ ใส่สีนี้จะเป็นศรีมีเสน่ห์คนรักชอบ ซึ่งเหล่าล้วนเป็นความเชื่อของทางอินเดียที่ไทยเรารับมาและปรับใช้ในบ้านเมืองเรา ทั้งนี้ในส่วนของราชสำนักจะเห็นได้ชัด เพราะว่าชาวบ้านสามัญธรรมดาไม่มีใครมีเงินไปซื้อเสื้อซื้อผ้าสวมกันมากมายหรอก ยิ่งผ้าสีสวยๆยิ่งน้อย เพราะกระบวนการในการย้อมและตัด ผ้าเหล่านี้มักย้อมเป็นสีสวยมาจากเมืองจีน พวกที่สวมใส่มักจะเป็นพ่อค้าจีน คนมีอันจะกิน หรือเจ้านายในวังเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปก็จะแต่งกายเปลือยอกบ้าง นุ่งเสื้อที่ตัดเย็บแบบธรรมดาไม่ย้อมสีใดๆบ้าง หรือย้อมแบบสีธรรมชาติที่ไม่ฉูดฉาดมากมาย ก็ลองไปดูตามพิพิธภัณฑ์จะเห็นว่า เสื้อสตรีชาวบ้านไม่มีให้เห็นกันหรอก มีแต่ผ้านุ่ง ผ้าซิ่น เพราะเราก็ใช้กันแค่นั้น เนื่องจากเราเป็นเมืองร้อนนั้นเอง ผ้านุ่งของเราหากต้องการเสริมสีสันความมงคลไป เราก็มักจะใช้เป็นสีมงคล หรือโฉลกความยาวของผ้าว่า ความยาวเท่านี้ หมายถึงมีความมงคลแบบนี้ๆ ดูจากงานจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่พระยาแรกนาจะจับผ้านุ่งมานุ่งแล้วโหรหลวงจะเสี่ยงทาย ไม่พบว่ามีการปักลายเทพ เทวดา สัตว์มงคล ของมงคล ลงไปบนเสื้อบนผ้า เว้นแต่จะทอเป็นลายธรรมชาติ เช่น ลายน้ำไหล ลายสาม ลายสี่ จะเห็นจริงๆก็มีแต่เสื้อผ้าของเจ้านายในวังที่จะมีการทอลายลงไปใส่ในฉลองพระองค์ ดูกันง่ายๆก็จากการประชุมเอเปคของไทยที่ผ่านมา ที่ตัดเสื้อให้พวกผู้นำใส่ หรือก็จากชุดครุยเท่านั้น
แต่ของจีนไม่ใช่แบบนั้น มีความน่าตื่นตาตื่นใจมากๆ เรามักจะเห็นชุดที่มีลายปักสารพัดบนเสื้อบนผ้า แต่ถ้าถามว่าไม่ใช่ขุนนาง เป็นชาวบ้านธรรมดามีไหม มีครับ แต่เป็นยุดหลังๆมากแล้ว ใครมีผ้าแพร หรือเสื้อแพร ชุดนอน ลองไปค้นมาดู แต่ละลายล้วนเป็นลายมงคลของจีนทั้งนั้น สมัยก่อนจีนก็มีแบบนี้ แต่ก็คล้ายๆกับไทยคือมันก็แล้วแต่ฐานะคนสวมใส่ด้วย บางคนก็กล่าวในแง่ดีว่าคนโบราณท่านถ่อมตนรู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ไม่กล้าเอาเสื้อผ้าลวดลายดีมากมาใส่เอง เพราะเจียมเนื้อเจียมตัวฐานะกัน ต่อให้มีเงินก็ตาม แต่ผมเห็นต่างว่า ถ้าเอามาใส่จริง ในวังก็คงไม่ยอมหรอกครับ มันเป็นเรื่องจิตวิทยาการปกครองไปด้วยในตัว อย่างหนึ่งที่ทำให้จำแม่นและสะดุดตาคือ ชุดขุนนางราชวงศ์ชิง แบบที่เห็นในภาพ เพราะยุคหนึ่งหนังฮ่องกงเกี่ยวกับผีดิบ แนวๆตลก เช่น ผีกัดอย่ากัดตอบ ดังมากๆ และชุดผีดิบก็คือ ชุดขุนนางราชวงศ์ชิงนี่หละ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความชื่นชอบเรื่องจีนของคนไทยเรา นอกจากจะสืบมาทางสายเลือด อีกทางก็คือหนังจีนนี่หละ ที่หลายบ้านพ่อไทย แม่ไทย ลูกกลับชอบวัฒนธรรมจีน เรื่องชุดขุนนางของจีนชี้ให้เห็นได้เด่นชัดว่า เขาให้ความสำคัญชุดที่สวมใส่และปักลวดลายลงไปอย่างวิจิตร อาจจะด้วยวิวัฒนาการเรื่องการปัก การทอ มีชั้นเชิงสูง และด้วยสภาพอากาศหนาว ก็เลยใส่เสื้อผ้าหลายตัว ใช้เสื้อผ้ากันเยอะ เลยมาพัฒนาด้านนี้เยอะ ต่างจากเมืองไทยที่เราจะไปเน้นอัญมณีและเครื่องทองเครื่องเงินมากกว่า เพราะดินแดนทางแถบนี้มี ทอง และมีรัตนชาติเยอะ ของเราก็มีการแบ่งระดับของขุนนางด้วยเสื้อผ้าเป็นสัญลักษณ์แทนเหมือนกัน แต่เน้นไปที่สีเสื้อเนื้อผ้า ส่วนของจีนเขามีจุดเด่นๆในการแบ่งชั้นขุนนาง ด้วย ปู่จือ (补子) ซึ่งมีสองแบบ แบบกลม และแบบสี่เหลี่ยมด้านเท่า โดยแบบกลมสำหรับเชื้อพระวงศ์ ติดประดับบนบ่าซ้ายขวาทั้งสองข้าง กลางหน้าอกและกลางแผ่นหลัง ส่วนแบบสี่เหลี่ยมด้านเท่าสำหรับขุนนาง จากความเชื่อของคนจีนว่า ฟ้ากลม ดินเหลี่ยม หรือ เทียนเหยวี๋ยนตี้ฟาง
การแบ่งแยกตำแหน่งขั้นขุนนางจีนสมัยราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644)และราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1616-1911) สามารถสังเกตดูได้จากผ้าลายปักบนชุดเครื่องแบบขุนนาง ที่จะใช้ภาพสัตว์แทนสัญลักษณ์แตกต่างกันไป โดยขุนนางฝ่ายบุ๋นจะเป็นรูปสัตว์ปีก ส่วนขุนนางฝ่ายบู๊จะเป็นรูปสัตว์สี่เท้า ซึ่งการติดผ้าปัก “ปู่จือ” บนเครื่องแต่งกายขุนนางนั้น มีเริ่มขึ้นในสมัยจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน(บูเช็คเทียน ครองราชย์ค.ศ.690-705) เนื่องจากพระองค์ทรงประทานผ้าปักลวดลายเป็นรูปสัตว์มงคลทรงพลานุภาพ อาทิ กิเลน สิงโต กวาง ให้แก่ขุนนางทั้งหลาย บรรดาขุนนางที่ได้รับจึงนำผ้าพระราชทานนี้ติดบนชุด ซึ่งต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1206-1368) ก็มีการติดผ้าปักบนชุดเช่นกัน แต่นำมาเป็นสิ่งกำหนดระดับชั้นขุนนางอย่างแท้จริงนั้น เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง
ในหนังสือบันทึก “หมิงฮุ่ยเตี่ยน” มีการเอ่ยถึงไว้ว่า ในปีค.ศ.1391 แห่งรัชสมัยฮ่องเต้จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง (ครองราชย์ ค.ศ.1368-1399) ทรงออกพระราชกำหนดว่า ให้ใช้ผ้าปักรูปสัตว์ปีก เป็นตัวแทนถึงความมีภูมิความรู้สำหรับขุนนางฝ่ายบุ๋น
明朝官员补子图案
品级
文官
武将
一
仙鹤
狮
二
锦鸡
三
孔雀
虎豹
四
云雁
五
白鹇
熊
六
鷺鷥
彪
七
鸂鶒
八
黄鹂
犀牛
九
鹌鹑
海马
杂职
练鹊
风宪官
懈廌
โดยกำหนดให้ ขั้นหนึ่ง(สูงสุด) เป็นภาพนกกระเรียนหัวแดง ขั้นสอง – ไก่ฟ้าสีทอง ขั้นสาม – นกยูง ขั้นสี่ – ห่านป่า ขั้นห้า – ไก่ฟ้าหลังขาว ขั้นหก – นกกระยาง ขั้นเจ็ด – นกเป็ดน้ำ ขั้นแปด – นกขมิ้น และขั้นเก้า – นกกระทา
และใช้รูปสัตว์สี่เท้า เป็นตัวแทนถึงความทรงพลังอำนาจสำหรับขุนนางฝ่ายบู๊ โดยกำหนดให้ ขั้นหนึ่ง(สูงสุด) และขั้นสอง เป็นภาพสิงโต ขั้นสาม และสี่เป็นภาพเสือและเสือดาว ขั้นห้า – หมี ขั้นหก และเจ็ด – แมวเสือ(彪) ขั้นแปด –แรด ขั้นเก้า – ม้าทะเล (海马)
ข้อกำหนดความแตกต่างของลายผ้าปักบนชุดขุนนางได้ยึดถือปฏิบัติต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งภาพสัตว์สัญลักษณ์มีการกำหนดแตกต่างออกไปบ้างเล็กน้อย ดังนี้
ขุนนางฝ่ายบุ๋นขั้นหนึ่ง(สูงสุด) เป็นภาพนกกระเรียนหัวแดง ขั้นสอง – ไก่ฟ้าสีทอง ขั้นสาม – นกยูง ขั้นสี่ – ห่านป่า ขั้นห้า – ไก่ฟ้าหลังขาว ขั้นหก – นกกระยาง ขั้นเจ็ด – นกเป็ดน้ำ ขั้นแปด – นกกระทา และขั้นเก้า – นกแซวสวรรค์
ส่วนขุนนางฝ่ายบู๊ ขั้นหนึ่ง(สูงสุด) เป็นภาพกิเลน ขั้นสอง – สิงโต ขั้นสาม – เสือดาว ขั้นสี่ – เสือ ขั้นห้า – หมี ขั้นหก – แมวเสือ ขั้นเจ็ดและแปด –แรด ขั้นเก้า – ม้าทะเล
นอกจากนี้ยังมีข้อแตกต่างอีกเล็กน้อยในเรื่องของขนาด โดยผ้าปักปู่จือของสมัยชิงจะมีขนาดเล็กกว่า และผ้าปักด้านหน้าจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนซ้ายและขวา ต่างกับของหมิงที่จะเป็นผืนเดียวทั้งหน้าและหลัง เนื่องจากว่าชุดเครื่องแบบขุนนางสมัยชิงเป็นชุดสวมแบบผ่ากลางด้านหน้านั่นเอง
เครื่องแต่งกายขุนนางชาย-หญิงสมัยราชวงศ์หมิงและชิง โดยปู่จือของฝ่ายหญิงจะมีขนาดเล็กกว่า ยึดลวดลายตามตำแหน่งขั้นของสามีหรือลูกชาย และถือเอาภาพสัตว์สัญลักษณ์ตามอย่างขุนนางฝ่ายบุ๋น เพื่อให้แลดูสวยงามไม่ต้องน่าเกรงขามอย่างฝ่ายชาย
เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะหาสัญลักษณ์มงคลหรือสัตว์มงคลมาพกมาห้อย ไม่ใช่สักแต่ว่าไม่หาของประจำปีเกิดมาห้อย แต่ควรแสวงหาสิ่งที่ตำราจีน หรือมีข้อมูลบ่งไว้ว่า ให้ความมงคลแท้จริง ถูกไหม เหมือนภาพเหล่านี้ ลองมองสำรวจรายละเอียดดีๆ ซ่อนไว้ด้วย สายน้ำ เมฆสี ค้างคาว พระอาทิตย์ ตัวอักษรโซ่ว ตัวสวัสดิกะ ของฝ่ายบู๊มีคำว่าโซ่วที่แปลว่าอายุยืน เยอะกว่าของฝ่ายบุ๋น ราวกับว่าเหมือนอวยพรให้ทหารฝ่ายบู๊พวกนี้ อายุยืนๆ อย่าได้เป็นไรไปในเวลาอันไม่ควรเพราะรบทัพจับศึกเยอะแบบนั้นหละ
ที่มา cri online ภาพ www.google.com
Comments