top of page
รูปภาพนักเขียนหมอซินแส

ตกลง ฉันเกิดปีนักษัตรไหนกันแน่ ชวด หรือ ฉลู และนี่มันเริ่มปีชงแล้วหรือยัง


วันปีใหม่จีน

วิชาการดวงจีนมีเรื่องให้พูดคุยถกเถียงกันชนิด เจ็ดวันเจ็ดคืนก็ไม่จบครับ สารพัดประเด็น ไม่แปลกที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า วิชาทำนายทายทักพวกนี้เป็น วิชาที่ขวางทางนิพพาน ไม่ต้องการให้พระสงฆ์สาวกไปข้องแวะ เพราะว่ามันชวนให้มีประเด็นที่ต้องเอาเวลาไปฉุกคิดค้นคว้าไม่รู้จักจบกันเสียที  ประเด็นที่เริ่มต้นวิพากษ์กันมากที่สุดเมื่อเข้าเทศกาลตรุษจีนก็คือ  ตกลง ดวงจีน เปลี่ยนปี วันไหนกันแน่ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคำถามยอดฮิตของคนทั่วไปที่ชอบเข้ามาถามผมคือ อาจารย์ๆ ตกลง ฉันเกิดปีนักษัตรไหนกันแน่ ชวด หรือ ฉลู และนี่มันเริ่มปีชงแล้วหรือยัง

ผมน่าจะเคยพูดเล่าๆไปหลายครั้งแล้วว่า ตอนนี้แยกออกเป็นสามสำนักใหญ่ 1. เชื่อกันแบบกว้างขวางมากที่สุด ขนาดที่ปฎิทินจีนที่พิมพ์ในฮ่องกง ไต้หวัน จะขึ้นต้นปีด้วยเดือน ขาล หรือ เดือนกุมภาพันธ์กันเลยทีเดียว ก็พุดง่ายๆว่า ยึดเอาวันตรุษจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่  โดยถือเอาปฏิทินจันทรคติ ภาษาจีนเรียก ยินลี่ เป็นหลักการคิดคำนวน เอาวัน 1 เดือน 1 ของปีจันทรคติ เป็นวันขึ้นปีใหม่ (เจิ้งแยว่ ชูอี)  มีเหตุผลอธิบายประกอบยืดยาวครับ เอาไว้ว่างๆ จะมาเล่าให้ฟัง  ด้วยการเหลื่อมของการปรับปีสากลให้ตรงกับปฏิทินแบบสากล และวงรอบการโคจรของเวลาที่เรายึดพระอาทิตย์เป็นหลัก มันไปเหลื่อมกับวงรอบที่พระจันทร์โคจรรอบโลกครับ (อธิบายไปยืดยาวแน่ๆ) เอาเป็นสรุปง่ายๆคือ วงรอบมันไม่ลงล็อคกัน ปีใหม่แบบตรุษจีนนี่มันเลยเลื่อนไปเลื่อนมา บางปีไปตกเอาปลาย มกราคม บางปีไปตกเอาต้นกุมภาพันธ์ค่อนมาเกือบกลางเดือน แบบนี้หละครับ

2. หมอดูจีนชอบใช้ คือ ยึดเอาตามปฏิทินชาวนา มาแนวสุริยคติหน่อยๆ เพราะว่า การเปลี่ยนปีแบบนี้ ยึดเอาการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ณ จุดที่เรียกว่า ลี่ชุน หรือ ลิบชุน ตามสำเนียงแต้จิ๋ว เป็นการเปลี่ยนปี โดยให้เหตุผลว่า สรรพชีวิตคือธาตุไม้ เมื่อธาตุไม้ก่อเกิด ย่อมถือว่าเป็นการแรกเริ่มของสรรพสิ่ง นี่คือ จุดเริ่มต้นของ ฤดูใบ้ไม้ผลิครับ  ลี่ แปลว่า เริ่มขึ้น ยืนขึ้น ก่อขึ้น ชุน แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ

3. หมอดูจีนแบบผมชอบใช้่ แล้วหลายสำนักตอนนี้ก็ยอมรับทำตาม ที่พูดแบบนี้ไม่ได้อวดตัวเองนะครับ ผมเริ่มเผยแพร่วิชาการจีนเรื่องการเปลี่ยนปีมาเมื่อ  2 ปีที่แล้วเอง ในตอนนั้นหมอดูจีนทั่วเมืองไทยยกเว้นอาจารย์ผม ยังยึดเอาการเปลี่ยนปีแบบ ลิบชุนอยู่ครับ คือ แบบที่สอง ที่พูดไปแล้ว  แต่พอผมเริ่มเผยแพร่หลักคิดเรื่องการเปลี่ยนปีแบบที่สามนี้ไป ปรากฎคงได้รับการพิสูจน์และยอมรับมากขึ้นมั้งครับ หลายสำนักจากเดิมเคยเขียนบทความว่า เปลี่ยนตอนลิบชุน พอมาปีก่อนหรือปีนี้่ เปลี่ยนเป็น ให้เปลี่ยนปีในวันตังโจ่ย หรือ ตงจื้อ แล้วครับ  ซึ่งวัน ตงจื้อ นี้มีเอกสารหลักฐานยืนยันว่าสมัยก่อนล่วงมาแล้วเคยถูกใช้เป็นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศจีนครับ หาอ่านตามเวปไซต์ภาษาจีนได้  นี่จึงเป็นต้นตอหนึ่งที่ผมบอกว่า โหราศาสตร์จีน ที่ผมใช้เป็นโหราศาสตร์แบบโบราณ นอกเหนือไปจากองค์ประกอบอื่นๆ เช่นวิธีการคำนวนดวง และธาตุในก้านดิน(12 นักษัตรด้วย)

เหตุผลก็คือ ตงจื้อ ถ้าเราทำผังภาพการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เพื่อการกำหนดฤดูกาล สำหรับการเพาะปลูกโดยเฉพาะ เพราะต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าเป็นสังคมเกษตรกรรม เลยให้ความสำคัญต่อการเพาะปลูกมาก  จีนจึงแบ่งฤดูกาลแบบหยาบๆได้ 4 ฤดู ฤดูใบไม้ผลิ ใบไม้ร่วง หนาว และร้อน รวม 4 ฤดู จีนเรียก ซื่อจี้ ทั้งนี้ถ้ารู้ลึกลงไปจะทราบว่า 4 ฤดูถูกคั่นด้วยฤดูที่ ห้า เรียกว่า จี้ คำเดียวกับ ซื่อจี้ นั่นหละ  เป็นเหมือนฉนวนรอยต่อ คั่นแต่ละฤดูๆเอาไว้  ให้ครบ ห้าธาตุไงครับ ฤดูใบไม้ผลิคือ ธาตุไม้ ฤดูใบไม้ร่วงคือ ธาตุทอง ฤดูร้อนคือ ธาตุไฟ สุดท้ายฤดูหนาวคือ ธาตุน้ำ  ดังนั้น จี้ จึงมาแทนความหมายของธาตุดิน    สี่ฤดูของจีน กินเวลาห้วงละประมาณ 3 เดือนครับ เดือนนึงมี 2 สารท(เจี๋ยชี่) คล้ายๆเป็นวันขึ้นต้นเดือนใหม่ กับ วันส่งท้ายเดือนเก่า ของเราทั่วๆไปก็ ขึ้นต้นเดือนใหม่วันที่ 1 ของเดือนนั้น และส่งท้ายสิ้่นสุดเดือนเก่าก็ประมาณวันที่ 30 หรือ 31 หรือ 28-29 แล้วแต่ แต่ละเดือนไป  แต่ของจีนโบราณ จะขึ้นต้นเดือนใหม่ ส่งท้ายเดือนเก่า เหลื่อมจากแบบสากลที่เราใช้ คือ ขึ้นต้นเดือนใหม่ ราวๆ วันที่ 4-5 ของทุกเดือน และส่งท้ายเดือนเก่า ราวๆ วันที่ 21-22 ของทุกเดือนถ้าเราไปเปิดปฏิทินแบบสากลที่มีตัวหนังสือจีนกำกับ เราจะเห็นเค้าเขียนไว้เป็นภาษาจีนเป็นชื่อของแต่ละสารทๆ ที่เปลี่ยนไป  รวม 12 เดือน เดือนละ 2 สารท ได้ทั้งหมด 24 สารท  ตัวตงจื้อนี้ เป็นสารทที่อยู่ในเดือน ธันวาคม เรียกง่ายๆว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่าตามปฎิทินจีนโบราณ จึงอยู่ราวๆ 21-22 ธันวาคม ของทุกปี ทั้งนี้ที่บอกวันที่แน่ๆตรงๆไม่ได้ เพราะว่า เค้ายึดเอาการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ที่มันไม่แน่นอนในแต่ละปี เนื่องจากมีจุดทศนิยมในแง่วิทยาศาสตร์และการโคจรไม่ได้เป็นวงกลม แต่เรามาทำปฏิทินใช้กันทุกวันนี้เราทึกทักเอาว่า ติ๊ต่างเอาว่า สมมติให้มันโคจรเป็นวงกลม ก็เลยมีเหลื่อม แต่ละปี วันเปลี่ยนสารททั้ง  24 สารทจะไม่คงที่ในปฎิทิน จริงๆละเอียดถึงขึ้นบอกว่า เปลี่ยนวันที่ 21 เวลา กี่โมง กี่นาที กันเลยทีเดียวหละครับ มีสูตรคำนวนอยู่   ตงจื้อแปลว่า กลางฤดูหนาว สมมติว่าเราย้่อนเวลาหาอดีตกลับไปในยุคที่ไม่มีปฏิทินเลย ไม่มีนาฬิกาเลย คนโบราณเฝ้าสังเกตธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงแล้วกำหนดออกมาเป็นห้วงๆ ได้เป็นห้วงของฤดูที่เปลี่ยนไป เอ๊ะ จากอุ่นๆ มันกลับเป็นหนาว พอการสังเกตละเอียดมากเข้าๆ ก็เกิดเรื่อง สารท ขึ้นมา ทั้ง 24 สารท มี 4 สารท ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดสุด  คือ 1. ตงจื้อ(เพราะกลางคืนยาวสุด กลางวันสั้นสุดๆแห่งปี ดูง่ายๆคือ ฟ้ามืดมาเร็วกว่าเดิมมากๆ เช่นธรรมดา 6 โมงเย็นฟ้าถึงเริ่มมืด มาตรงนี้ราวๆ 5โมงเย็นกว่าๆ ฟ้ามืดสนิทแล้ว ฯ) 2.เซี่ยจื้อ(กลางวันยาวสุด กลางคืนสั้นสุดๆในรอบปี  ดูง่ายๆคือ เช้าเร็วมากๆ ธรรมดา 6 โมงจะเริ่มพระอาทิตย์ส่องแสง อันนี้จะส่องแสงเร็วกว่า และตอนเย็นเกือบจะทุ่ม ฟ้าถึงจะมืด) 3.ชุนเฟิ่น 4.ชิวเฟิ่น (สองสารทนี้ คือ วันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน) เพราะฉะนั้น การสังเกตของคนโบราณ ตงจื้อ ทำได้ง่ายสุด ดูจากฟ้าที่มืดลงเร็วสุดถ้าทำสถิติไว้ หรือดูจากนาฬิกาแดดก็ได้ครับ ซึ่งจีนมีวิวัฒนาการในเรื่องนี้มานานแล้ว  บางคนบอกว่า ลิบชุน พื้ชพรรณเริ่มผลิบาน จึงเป็นปีใหม่ แต่มันสังเกตได้ยากครับ เพราะว่า พืชพรรณหลายอย่างของจีน ผลิบานออกได้แม้ยามฤดูหนาว จนเป็นที่มาของ หานซานโหย่ว สามสหายแห่งเหมันต์ อันได้แก่ ดอกเหมย ต้นสน และต้นไผ่ จึงเป็นการง่ายที่จะเอาวัน ตงจื้อ นี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะสังเกตุได้ง่ายสุดในห้วงปี

ข้อสนับสนุนอีกเรื่องคือหากเรามองว่า ราชวงศ์โจว เปลี่ยนปีในช่วงของเดือนชวด ซึ่งตำราอี้จิงก็ถือกำเนิดในห้วงราชวงศ์นี้ จะทราบว่าหากเราทำสถิติเอาการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลกเรามาทำผังภาพวงกลม  ในช่วงตงจื้อ หรือ ตังโจ่ยนี้ เป็นช่วงที่พลังหยินพ้นความสุดโต่งแล้วและเริ่มก่อเกิด หยาง ชี่ หรือปราณพลังหยาง ออกมาเล็กๆแทบสังเกตุไม่เจอ  หยาง คือ พลังของพลวัตรที่เริ่มต้นของสรรพสิ่ง จึงต้องเอาวันที่เริ่มหยางนี่ เป็นวันขึ้นปีใหม่

อีกข้อสนับสนุนคือ เดือนชวด เป็นการเริ่มปีที่ถูกต้องมากกว่าเดือนขาล เพราะจากข้อ 1-2 เดือนแห่งวันขึ้นปีใหม่จะตกประมาณเดือน ม.ค. หรือ ก.พ. ซึ่งเป็นเดือน ฉลู และ เดือนขาล ตามลำดับ  แต่ในการนับ 12 นักษัตร ซึ่งศัพท์เฉพาะของดวงจีนเรียกว่า 12ตี้จือ หรือ 12 ก้านดิน เริ่มที่ชวดครับ เช่น

เริ่มต้นวงรอบของ 60กะจื้อ วงรอบชีวิตที่คนจีนคิดว่าหากเวียนมาครบรอบถือว่าทุกอย่างจะกลับมาค่อนข้างเหมือนเดิม ซ้ำเดิมแบบนี้ จึงมีการจัดงานวันเกิดฉลองครั้งใหญ่ให้ผู้ใหญ่ที่มีอายุครบ 60 ปีครับ  อันนี้ เริ่มต้นนับที่ จื้อ หรือ ชวด

เริ่มต้นเวลาในรอบวัน เริ่มที่ยามจื้อ หรือ ยามชวด คือ ราวๆ 23.00 น. ของแต่ละวัน ไม่ได้เปลี่ยนตอนเที่ยงคืนแบบสากลนะครับ

**ต้องเข้าในก่อนว่า จีนเรา เอานักษัตรเป็นตัวบอก วัน เดือน ปี เวลา แทนตัวเลข มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพิ่งมาปรับให้เป็นสากลยุคหลังๆราวๆซุนยัดเซ็นนี่เอง แต่ก่อนยังใช้แบบเก่าอยู่ เช่นบอกว่า นี่คือ ปีมะเมีย เดือนขาล วันชวด เวลาเถาะ  อันนี้เห็นได้จากใบเกิดของลูกหลานจีนหากเคยมีคนเขียนดวงเอาไว้ให้ จะไม่ระบุว่า เกิดเวลา 23.25 น. นะครับ เค้าจะเขียน จื่อซี้ หรือบอกว่า เด็กคนนี้เกิดยามชวด เป็นต้น

เมื่อปี ก็เปลี่ยนตอน ชวด เวลาของแต่ละวัน ก็เปลี่ยนตอน ชวด เดือน ก็ควรจะเปลี่ยนวงรอบ ในเดือนชวด คือ ราวๆ ธันวาคมของทุกๆปี เช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนปี เพื่อการคำนวนดวง กับ การเปลี่ยนของ ชะตามนุษย์นั้น เปลี่ยนปีต่างกัน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่า การคำนวนดวงชะตาจากการที่เราทราบวันเดือนปีเกิด เพื่อแปลงมาเป็นแผนผังดวงชะตานั้น ยึดขึ้นปีใหม่ที่ 21-22 ธันวาคม ตาม สารทตงจื้อ นั้น ให้ความแม่นยำในการอ่านดวงและทำนายดวงสูงกว่าแบบอื่นๆ แทบไม่มีที่พลาด  แม้แต่น้อยเลย แต่ชะตาชีวิตของคนหนึ่งจะเข้าเรื่องดี เรื่องร้ายตามแต่ละปีที่บอกเรา เช่น ปีนี้ ปีมะเมียธาตุไม้  คนที่เป็นธาตุดินหยิน จะได้ขึ้นตำแหน่งใหม่ สมมติแบบนี้นะครับ แทนที่เค้าจะได้ตำแหน่งในราวๆปลายเดือนธันวาคม ไม่เลย ความเปลี่ยนแปลงกลับไปเปลี่ยนเอาในห้วง ลิบชุน มากกว่า คือ ราวๆ ปลายเดือน มกราคมเอาเสียแล้ว แต่ก็มีหลายดวงชะตาที่พิเศษๆ เปลี่ยนเอาค่อนไปกลางปีบ้าง ปลายปีบ้างก็มีครับ ซึ่งต้องพิจารณาส่วนอื่นๆของดวงชะตาประกอบ

ตกลง ฉันเกิดปีนักษัตรไหนกันแน่ ชวด หรือ ฉลู และนี่มันเริ่ม ปีชง แล้วหรือยัง

เพราะฉะนั้น ถ้าดูว่า เราเกิดปีนักษัตรอะไร ขอให้ยึดตาม จีน ถ้าท่านต้องการความถูกต้องในเรื่อง การชง การดูฮวงจุ้ย หรือ ดูดวงแบบอื่นๆด้วยศาสตร์จีน  พูดง่ายๆว่า วิชาไหนวิชานั้น อย่าไปเอานักษัตรไทย มาปนกับจีน เพราะว่า นักษัตรไทยเค้าจะเปลี่ยนก็ปาเข้าไปในเดือน เมษายนแล้ว   วิธีหาง่ายๆคือ ดูปีเกิดเลยครับ เช่น ตั้งแต่ 21-22 ธันวาคม ของปี 2556 ถึง ณ ปีนี้2557 ทั้งปี ใครเกิดห้วงนี้ ถือว่า เกิดปีมะเมีย หมดเลย แม้ว่าปีก่อนจะเป็นปีมะเส็ง แต่ว่าเราเกิดหลังจาก 21-22 ธันวาคม มาแล้ว ทางวิชาการโหราศาสตร์จีน ถือว่า เกิดในปีใหม่ คือ ปีมะเมียนี้แล้ว แบบนี้เป็นต้น  ส่วนที่ว่าจะได้รับผลกระทบของปีจรที่เข้ามาเมื่อไหร่ เช่น ชง คัก เฮ้ง ฯ นั้น เริ่มมีผลราวๆ ลิบชุน หรือตรุษจีน ก็ประมาณ ปลายๆเดือนมกราคม เป็นต้นไป  แต่อย่ากังวลใจเอาแต่ว่าเราซวยๆ ซวยแน่ๆ อย่าไปคิดแบบนั้นครับ ผมเคยเขียนบทความเรื่อง เข้าใจปีชง อย่างงจนเลอะเลือนมาแล้ว ลองไปหาอ่านดู

ทีนี้เรามาดูประวัติกันหน่อยเป็นความรู้เอาไว้  ว่าการเปลี่ยนปีจีนนั้น ก็มีการเปลี่ยนตามหลักการที่กลับไปกลับมาไม่ได้มีหลักที่ตายตัวแน่นอนว่าต้องเป็นวันที่หนึ่งเดือนหนึ่งของทุกๆปีแต่อย่างไร

วัฒนธรรมทั่วโลกก่อนที่ฝรั่งจะเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมนั้น มีการเปลี่ยนปีไม่เหมือนกันในแต่ละภูมิภาคครับ เอาง่ายๆ ไทยเรายึดเอาตามสุริยยาตรมาจากความเชื่อทางอินเดียก็เลยเปลี่ยนวันที่พระอาทิตย์เข้าราศีเมษ คือ สงกรานต์ ในราวเดือนเมษายน  แต่จีนนั้นจะเปลี่ยนราวๆ ต้นปีหรือกุมภาพันธ์เป็นต้น  แต่แล้วทั่วโลกก็มาตกลงกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนปีแบบสากลใช้กันหมดก็เลยเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งมันมีนัยทางวัฒนธรรมของชาวฝั่งตะวันตกสอดแทรกผ่านการปรับปฏิทิน ปรับเดือน จูนวันมาเรื่อยๆนะครับ

กรณีประเทศจีนใช้วันที่ 1 เดือน 1 ตามปฎิทินจีน (วันตรุษจีน) เป็นวันปีใหม่ของประเทศ  ก่อนจะมาเปลี่ยนไปในแนวสากลห้วงสมัยซุนยัดเซ็นทำการปฏิวัติ ซึ่งแต่เดิมนั้นมีประวัติเรื่องวันขึ้นปีใหม่ที่เปลี่ยนไป เลื่อนมา พอสมควร เริ่มจากเก่าแก่สุด ไปหา ใหม่สุด  ดังนี้

ราชวงศ์เซี่ยซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของจีน ขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เดือน 1 (เดือนขาล)

ราชวงศ์ซาง(ราชวงศ์ถัดมา) ขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เดือน 12 (เดือนฉลู)

ราชวงศ์โจว ขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เดือน 11 (เดือนชวด)  คิดค้นตำราอี้จิง ก็ช่วงนี้ครับ การประดิษฐ์ต่างๆเกี่ยวกับปากว้าก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ เลยไม่แปลกที่ตั้งต้นเอาเดือนชวด เดือนแรกของ 12 นักษัตร เป็นเดือนแรกของปี

ราชวงศ์ฉิน ขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เดือน 10 (เดือนกุน)

จนมาสมัยของฮั่นหวู่ตี้(ราชวงศ์ฮั่น) จึงย้อนกลับไปใช้วันที่ 1 เดือน 1 เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามราชวงศ์เซี่ยอีกครั้ง  และใช้ต่อเรื่อยมา

ประเด็นนี้ทำให้การนับช่วงเวลาของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ช่วงราชวงศ์แรกๆคลาดเคลื่อนไป เพราะเหตุการณ์บางเหตุการณ์ถูกนับข้ามปีไปแล้วทั้งๆที่ยังไม่พ้นเดือน 1 ตามปฎิทินจีน (เช่นกบฎเฉินเซิ่งหวูกว่างแห่งราชวงศ์ฉิน เกิดประมาณช่วงเดือน 8 ก่อนค.ศ. 208 แล้วถูกสลายลงในช่วงเดือน10 จริงๆคือยืนหยัดอยู่ได้แค่สองเดือนกว่าๆ แต่บันทึกสมัยนั้นจะนับปีขึ้นเป็นอีกปีนึงแล้ว ทำให้ดูเหมือนกบฎเฉินเซิ่งหวูกว่าง ยืนหยัดได้เป็นปี) ต้องขอบคุณข้อมูลประกอบจากคุณ อ๋อง แฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน มา ณ ที่นี้ด้วยสำหรับข้อมูลร้อยเรียงประวัติ

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

ลูกตุ้มโมเมนตั้ม ช่วยในเรื่องของฮวงจุ้ยในการอ่านหนังสือได้

จากคำถามที่มีผู้ถามมาว่า ขออนุญาตสอบถามเกี่ยวกับ ลูกตุ้มโมเมนตั้ม นะคะ คือดิฉันไปได้ยินมาว่า สามารถช่วยในเรื่องของฮวงจุ้ยในการอ่านหนังส...

เลขมงคลประจำยุคนี้

พูดตรงๆนะ ผมไม่ใช่คนเรียบร้อยผ้าพับไว้ ผมไปเห็นบางคนบางท่านผมก็ยังนึกดีใจ ชื่นชม และบางทีก็ละอายใจ ว่า เขาเรียบร้อย หรือ...

Comments


bottom of page