ในวัน ตวนอู่ (วันเทศกาลกิน บ๊ะจ่าง ) เป็นวันที่คนจีนเชื่อว่าวิญญาณร้ายและสัตว์มีพิษจะออกมาจากรังและมารังควาญทำร้ายทำลายให้แก่คนเราชาวบ้านทั้งหลาย คนจีนสมัยก่อนก็เลยจะมีการจัดเตรียมเอาสมุนไพรต่างๆ แขวนไว้ตามบ้านเรือนเพื่อไล่สัตว์พิษร้ายพวกนี้อออกไป
โกฏจุฬาลำภาจีน ซึ่งน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรชนิดนี้จะสามารถไล่แมลงและหนอนให้ไปไกลๆได้ ว่านน้ำ ด้วยลักษณะที่แข็งและคมของใบว่านน้ำ คนจีนเชื่อว่ามีพลังเปรียบประดุจกระบี่ที่จะปกป้องบ้านเรือนจากวิญญาณร้าย ช่อไกร (เด็ดมาทั้งก้านและใบ) อันเป็นเครื่องหมายของการหมุนเวียนเปลี่ยนชีวิตใหม่ การได้รับสิ่งใหม่ๆ
คนจีน ก็จะเอาสมุนไพรทั้งสามมัดรวมกันด้วยเชือกและหรือพันด้วยกระดาษแดงแล้วแขวนไว้ที่ประตูหน้าบ้าน ในเทศกาลกิน บ๊ะจ่าง นี้
เมื่อแขวนเสร็จแล้ว คนจีนโบราณก็จะนำน้ำใส่อ่างใบใหญ่ตั้งไว้นอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสวนหน้าบ้าน หรือชานบ้าน ที่แสงแดดจะส่องถึง เมื่อผ่านล่วงยามมะเมียไปแล้ว (ระหว่าง 11.00 – 13.00 ) ก็จะนำน้ำนั้นกลับเข้ามา แล้วจะเอาผงหรดาลน้ำหน่อย ผสมกับโกฏจุฬาลำภาจีน ว่านน้ำ ช่อต้นหลิว (ใบ+ก้าน) และใบต้นดอกท้อ ทั้งหมดใส่ลงในน้ำ ทำเป็นน้ำเสกเพื่อใช้ล้างหน้าและอาบอันจะช่วยบำบัดรักษาความเจ็บป่วยที่จะเกิดในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลในช่วงเวลาเทศกาลนี้
นอกจากจะมีการอาบเพื่อชำระล้างแล้ว ก็ยังมีการดื่มเพื่อชำระล้าง โดยในวันกิน บ๊ะจ่าง แม่บ้านจะเป็นผู้เตรียมเหล้าหรดาล เพื่อให้คนทั้งบ้านดื่มสำหรับล้างสารพิษ และเพื่อได้รับพรแห่งสุขภาพที่ดี (นี่คล้ายๆกับการรับพิษอ่อนๆเพื่อต้านพิษตามหลักการแพทย์ของจีน ที่บางทีเชื่อว่า หากร่างกายอ่อนแอมากก็จะให้ได้รับสารพิษชนิดอ่อน – เพราะหรดาลความจริงนั้นมีพิษ จะได้ทำการไปกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน)
หลังจากชำระทั้งอาบทั้งดื่มแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่จะหาเอาสายเชือกห้าสีมาถักร้อยเป็นสายรัดข้อมือ เพื่อมอบให้แก่สมาชิกในตระกูล โดยถ้าเป็นผู้ชายจะสวมที่มือซ้าย ผู้หญิงจะสวมที่มือขวา ซึ่งเชื่อกันว่าการสวมดังกล่าวติดตัวไว้จะเป็นการป้องกันลางร้ายวิยญาณร้าย และเป็นสื่อรับ พลังห้าธาตุ ห้าทิศ
ถ้าเรามองสมุนไพรเหล่านี้ในเชิงแพทยวิทยาแล้วจะพบว่า สมุนไพรดังกล่าวนอกจากมีน้ำมันหอมระเหยและบางชนิดสามารถช่วยไล่แมลงได้ดีแล้ว ยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการแก้ลม แก้ไข้ แก้ท้องร่วงท้องเสีย อันเป็นโรคที่มักเกิดในหน้าร้อน เพราะฉะนั้นนี่อาจเป็นภูมิปัญญาหนึ่งของคนจีนที่แฝงเอาไว้ บทความนี้จึ่งมุ่งหมายให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่า หากจะรักษาประเพณีใดๆแล้วก็ขอให้ทำแบบครบวงจร เพราะของแต่ละอย่างจะมีไว้ปรับสมดุลย์ซึ่งกันและกัน เช่น การทานบะจ่างมากๆในฤดูกาลนี้ บ่ะจ่างทำจากข้าวเหนียว ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยค่อนข้างยากและให้พลังงานสูง การที่จัดให้มีเทศกาลแข่งเรือ และไปชมการแข่งเรือก็จะทำให้เราได้ออกกลางแจ้ง ได้ใช้พลังงานไปทั้งคนที่พายเรือมังกรแข่งขันและคนที่ไปเชียร์เองก็ตาม หยูกยาสมุนไพรที่ใช้ในเทศกาลนี้ก็จะเป็นตัวปรับความร้อนในร่างกาย และปรับเลือดลมธาตุให้ไหลเวียนดี ก็จะไม่เกิดความเจ็บป่วยไข้ในช่วงต้นฤดู เพราะสังเกตุว่าในช่วงเปลี่ยนฤดูนั้น คนมักเจ็บป่วยบ่อย เพราะธาตุจากอากาศเปลี่ยนก็ส่งผลต่อร่างกายที่ไม่แข็งแรงไม่อาจปรับตัวได้ทัน อย่างเทศกาลนี้ ถือว่าเป็นช่วงปรับจาก ฤดูใบไม้ผลิ เข้า ฤดูร้อน แต่ถ้าบ้านเราก็จะเป็นการปรับจาก ฤดูร้อน เข้าฤดูฝน ดังนั้นคนจีนในไทยก็ควรจะรับประทานของที่อุ่นๆ อย่างเช่นบ่ะจ่างนั้นเหมาะสมแล้ว แต่ทานมากไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดอาการไขมัน และอาการอาหารไม่ย่อย ทั้งนี้เนื่องจากสภาวะอากาศ และการที่เรารักษาประเพณีแค่การทานบ่ะจ่าง ทำให้พอทำเสร็จ ทานเสร็จ เราก็เข้าไปอยู่ในห้องแอร์ ในห้องแคบๆเหมือนเดิม อาหารบำรุงกำลังส่วนใหญ่ของจีน โดยเฉพาะอาหารมงคล ไม่ว่าจะเป็น แป่ะก้วย เกาลัด พุทราจีน ที่ใส่อยู่ในบ่ะจ่างหวาน หรือกระทั่ง กุนเชียง หมู ไข่แดง ที่นิยมใส่ในบ่ะจ่างเค็ม ต่างล้วนแล้วแต่ให้พลังงานสูงทั้งนั้น เมื่อรับประทานแล้วก็ควรจะให้มีการเผาผลาญพลังงาน และไม่ทานมากกเกินไปเพราะอย่าลืมว่าเราอยู่ในเมืองร้อน
ดังนั้น อยากฝากไว้สำหรับลูกหลานจีนว่า ประเพณี หรือแนวคิดทั้งหลายของเราๆท่านๆนั้น ที่สืบทอดมาเป็นแนวคิดแบบองค์รวม คือ เน้นการปรับสมดุลย์ในแต่ละกิจกรรมที่ทำของเทศกาล ดังนั้นจะต้องทำให้ครบเครื่อง เช่น เทศการกินขนมบัวลอย ที่มีการชมโคมไฟด้วย เพราะเทศกาลช่วงนี้อยู่ในหน้าหนาว โคมไฟจะช่วยทำให้เราปรับนิสัยให้เข้ากับเวลาได้ กล่าวคือ ฤดูก่อนหน้าคนอาจจะนอนดึกกันหน่อยไม่เป็นไรเพราะอากาศอุ่นๆ แต่พอเข้าหน้าหนาวแล้วต้องเริ่มนอนเช้า บางคนปรับตัวไม่ทันนอนไม่หลับก็มีเทศกาลนี้ให้ออกมาเที่่ยว อากาศที่หนาวเย็นเกินไปก็อุ่นได้ด้วยโคมไฟที่ให้แสงความอบอุ่น และยังมีการทานขนมบัวลอยซึ่งแน่นอนว่า ตัวแป้งและตัวไส้เป็นตัวให้พลังงานความร้อน อย่างเช่น งาดำ ก็เป็นเมล็ดที่ให้ฤทธิยาทางร้อน ให้ความอบอุ่น ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าคนจีนฉลาดคิดทุกอย่างรัดกุมหมด แต่ต้องเข้าใจว่าด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เค้าก็มีการปรับการเปลี่ยนมาเรื่อยๆ มีการช่วยกันคิดช่วยกันแก้มาตลอด เหมือนกับวันขึ้นปีใหม่ ที่แต่เดิมขึ้นปีใหม่หน้าหนาว ต่อมาเปลี่ยนขึ้นตอนฤดูใบไม้ผลิ คือว่า ทำเนียม ประเพณีพวกนี้มันเปลี่ยนแปลงกันไป ขัดเกลาให้เหมาะสม ให้ประหยัดสุด ประโยชน์สูงอยู่เรื่อยๆ เราซึ่งเป็นคนที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ก็ต้องเข้าใจรากเหง้าและแนวคิด เพื่อการมีชีวิตที่สมดุลย์ ไม่งั้นก็เตรียมตัวไปดูที่โรงพยาบาลได้ คนจีนส่วนใหญ่ ที่อาศัยในไทย พอแก่ตัวเป็นเบาหวานกันถ้วนหน้า เป็นกระดูกพรุน เป็นความดัน ไขมัน โรคหัวใจ เพราะอย่าลืมว่า เราไม่ทานอาหารฝรั่งก็จริง แต่อาหารจีนที่ท่านทำทานกันนั้นก็ให้พลังงานสูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาหารตะวันตก หนำซ้ำเครื่องสมุนไพรทั้งหลายยังเป็นยาฤทธิ์ร้อนให้ความอบอุ่นเสียมาก จึงควรเลือกรับประทาน อย่าให้เทศกาลต่างๆเป็นเทศกาลแห่งความสะหวาปาม มีไหว้พระจันทร์ก็ทานๆๆขนมเปี๊ยะ พอมีตรุษจีนก็หมูเห็ดเป็ดไก่ไม่อั้น ขอให้ยังคงมีการรู้จักบริโภคให้พอประมาณ
กินอย่างไรเรียกว่าไม่กินมากเกินไป พระศาสนาเราได้สอนว่า กินอาหารให้อย่าให้ถึงระดับอิ่ม ให้กะปะมาณว่ากินแล้ว เหลืออีกคำนึงจะอิ่มก็ให้หยุดกินเสีย นั่นหละเรียกว่าบริโภคอาหารอย่างพอดีไม่มากเกินไป เสร็จแล้วให้อาหารได้ย่อยสักชั่วครู่ชั่วพักแล้วค่อย ดื่มน้ำตามลงไป ก็อิ่มพอดี แบบนี้
Comments