ตาชั่งจีน ภาษาจีนเรียกว่า “ก่านเชิ่ง “ เป็นสิ่งประดิษฐ์ของจีน มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการชั่งน้ำหนักในประเทศจีนมานานตั้งแต่ยุคชุนชิว ตาชั่ งขนาดใหญ่รับน้ำหนักได้หลายร้อยปอนด์ในยุคฉิน ประมาณ 2,000 ปีก่อน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ
ตาชั่งจีน ประกอบด้วย ด้ามหรือก้าน บนก้านมีมาตราส่วนบอกน้ำหนัก ปลายข้างหนึ่งของก้านมีตะขอห้อยลงมาเอาไว้หิ้ววัตถุที่ต้องการชั่ง ปลายอีกข้างหนึ่งมีลูกตุ้มน้ำหนักเลื่อนได้ห้อยอยู่กับเชือก บนก้านมีเชือกอีก 2-3 เส้นเอาไว้หิ้ว
ขณะชั่ง คนชั่งจะหิ้วเชือกเส้นใดเส้นหนึ่งขึ้นมา แล้วเลื่อนลูกตุ้มน้ำหนักไปทางซ้ายหรือทางขวาจนกว่าจะถึงจุดสมดุลที่ก้านไม่เอียง แล้วจึงอ่านค่าน้ำหนักที่เขียนไว้บนก้านตาชั่ง โดยหลักการอันเดียวกันนี้ ต่อมาพัฒนาเป็นตาชั่งที่ใช้จาน 2 ใบ ใบหนึ่งวางของที่จะชั่ง อีกใบวางลูกน้ำหนักโลหะขนาดต่างๆ จนน้ำหนักบนจานทั้งสองเสมอกัน ตาชั่งแบบนี้หิ้วไม่ได้ และไม่สะดวกในการพกพา
ขนาดของตาชั่งจีนแตกต่างกัน สุดแล้วแต่ว่าต้องการชั่งน้ำหนักขนาดไหน ตาชั่งใหญ่มากๆ สามารถชั่งข้าวสารเป็นกระสอบหรือหมูเป็นตัวๆได้ ตาชั่งขนาดเล็กความยาวของก้านไม่ถึงฟุต มีไว้ชั่งสิ่งของน้ำหนักไม่ถึงตำลึง เช่น เงิน ทอง ยาสมุนไพร เป็นต้น คู่กับการประดิษฐ์เครื่องชั่ง จีนได้สร้างมาตราชั่งน้ำหนักของตนเองขึ้นมา ในสมัยของจักรพรรดิฉินสื่อหวาง (จิ๋นซีฮ่องเต้) ได้มีการกำหนดมาตราชั่งน้ำหนักให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ในยุคถังก็มีการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง และใช้กันเรื่อยมา การซื้อขายสินค้าในประเทศจีนทุกวันนี้ ชั่งกันด้วยมาตราชั่งน้ำหนักแบบจีน ไม่นิยมใช้มาตราส่วนสากลเป็นกิโลกรัม หรือ ปอนด์ มาตราชั่งน้ำหนักของจีน คิดกันเป็น จิน เหลี่ยง เฉียน เฟิน ละเอียดลงไปอีกก็ยังมี หลี่ เหา และ ซือ
Comments