top of page
รูปภาพนักเขียนหมอซินแส

พิธี ไหว้แก้ชง-ไหว้ปีชง จำเป็นหรือไม่ ความเห็นจากอาจารย์โหราศาสตร์จีน

ปีชง 冲犯太岁 พิธีแก้ชง 化太岁 ไม่ใช่ของโบราณ และไม่มีธรรมเนียมจีนแท้ๆใดๆรองรับ เป็นแต่เพียง ประเด็นสมัยใหม่ ที่เพิ่งพูดถึงกันได้ไม่นาน ไม่เกินกว่า 200 ปีนี้แน่ๆ จริงๆผมอยากพิมพ์ว่า ไม่เกิน 100 ปีด้วยซ้ำ แต่คิดว่าอาจจะเกิน เนื่องความรู้ใดๆของจีนนั้นด้วยความกว้างของพื้นที่และการกระจายตัวของคนจีน ทำให้ยากที่จะหาหลักฐานแน่ชัด ว่าประเด็นดังกล่าวเริ่มขึ้นในห้วงเวลาใดและใครเป็นคนพูดขึ้นมาคนแรกกันแน่ ทั้งนี้ เมื่อไม่มีการชี้ชัดเช่นนี้ก็ทำให้เราทราบได้ว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และไม่ได้เป็นทางการเหมือนอย่างการไหว้พระจันทร์ 中秋节 หรือการไหว้ขนมบัวลอย ขนมอี๊ 冬至

กล่าวได้ว่า ปีชง หรือ การแก้ชง ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในตำราโหราศาสตร์จีน ไม่เหมือนพิธีบูชาเจ็ดดาว หรือเมื่อเปรียบเทียบก็ไม่เหมือนพิธีบูชาดวงชะตาหรือบูชาดาวนพเคราะห์ของไทย หรือสืบชะตาหลวงของล้านนา ที่มีการกำหนดระเบียบพิธีแน่ชัด มีเครื่องประกอบพิธีสำคัญที่ชัดเจน และมีหลักฐานไม่ว่าจะภาพถ่ายหรือความเป็นสากลของการประกอบพิธีดังกล่าวที่สอดคล้องกัน

ความหมายของ ชง 冲 ตามตำราโหราศาสตร์จีนแท้ๆ อาจพูดพอสังเขปได้ว่า หมายถึง การกระทบกันของธาตุที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน ซึ่งจะบอกว่า กระทบแล้วร้ายไปเสียหมดก็ไม่ใช่ และมีหลายธาตุที่ต่อให้ ชง กัน ก็กลับมีพลังธาตุหนุนเสริมกันไปด้วย เช่น ฉลู ประกอบด้วย ดินหยิน ทองหยิน น้ำหยิน ตามหลักการห้าธาตุว่า ดิน ย่อมเกื้อหนุน ทอง ทอง ย่อมเกื้อหนุน น้ำ ซึ่งในคู่ชงนั้น ฉลู ชง มะแม มะแม ประกอบด้วย ธาตุดินหยิน ธาตุไม้หยิน ธาตุไฟหยิน ต่อให้พื้นฐานโหราศาสตร์จีนสำคัญจะบอกว่า ธาตุขั้วเดียวกันไม่เข้าคู่กัน หรือ หนุนเนื่องกันอย่างไม่แนบสนิท เช่น ขั้วหยางเจอหยาง หรือ ขั้วอินเจออิน พลังธาตุไม่หนุนเนื่องสมานกันเท่า หยางเจออิน หรืออินเจอหยาง แต่ปฏิเสธไม่ได้เรื่องการหนุนกันในวงจรธาตุทั้งห้าอย่างเป็นวัฏจักร ธาตุทอง หนุนธาตุน้ำในฉลู ธาตุน้ำนั้นก็ย่อมหนุนธาตุไม้ในมะแม และไม้ในมะแมก็หนุนไฟในมะแม กลับมาหนุนดินในมะแม แล้วกลับเข้ามาหนุนดินในฉลูได้ หรือ กุน กับ มะเส็ง ที่ชงกัน แต่ว่า ในกุนมีธาตุไม้อยู่ ย่อมทำหน้าที่ หนุนมะเส็ง ซึ่งเป็นธาตุไฟ และในไฟเช่นว่านั้นก็มีธาตุทองอยู่ ทองของมะเส็งก็สามารถกลับมาหนุน น้ำในกุนได้ด้วย เนื่องจาก นักษัตรกุน ประกอบด้วย ธาตุน้ำกับธาตุไม้ โดยคู่นี้มีความพิเศษนอกจาก ชง 冲 แล้วยังไฮ่ 害 ได้อีก (ไฮ่ 害 เป็นรูปแบบความสัมพันธ์อีกลักษณะนึงของคู่ธาตุนักษัตร) แปลว่า ในบรรดาคู่การชงปีนักษัตรทั้ง 12 นั้น มีจำนวน 2 จาก 6 คู่ ที่ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกันหรือพลังงานผลักกันแต่อย่างเดียว ยังมีความเข้ากันได้หรือเกื้อหนุนกัน การจะเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องท่านต้องได้ศึกษาพื้นฐานโหราศาสตร์จีนมาเสียก่อน โดยโหราศาสตร์จีนมีลักษณะเด่นที่ ดูเหมือนง่ายๆ ทั้งการวางผัง หรือการเข้าคู่ของปฏิกิริยาธาตุต่างๆ แต่พอศึกษาในรายละเอียดแล้วจะพบว่ามีข้อยกเว้นเล็กๆน้อยๆดังที่ได้ยกตัวอย่างไป โดยจะรู้ได้ต้องอ่านตำราอย่างมากพร้อมๆกับมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญชี้แนะให้เห็น ด้วยว่าดูเหมือนง่ายบางทีคนเลยมองข้ามจุดเล็กๆน้อยๆไป แล้วตำราโหราศาสตร์จีนยังมักทำจุดเล็กๆน้อยๆที่สำคัญเช่นนี้ แทรกไว้ในจุดต่างๆของตำรามากมาย จุดนี้ทำให้เราทราบว่า ชง ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามหรือพลังงานผลักกันอันตรงข้ามกับเกื้อหนุน เสมอหน้ากันทั้ง 6 คู่ของ 12 นักษัตรเสมอไป

เช่นเดียวกันกับกรณีข้างต้น ชง ก็ไม่ได้แปลว่า ร้ายเสมอไป เนื่องด้วยนอกจากพิจารณา ธาตุใดๆที่มีในผังดวงชะตา หรือธาตุใดๆที่จรเข้ามาใน ปี เช่น ปีชง ที่ท่านกำลังครุ่นคิดว่าจะเชื่อใครกันแน่ หรือใน เดือนชง วันชง ยามชง ปฏิกิริยาเรื่อง ชง นั้นสามารถมีได้ตั้งแต่ ปี เดือน วัน และยาม นั้นหมายความว่า หากต้องแก้ชงจริงแล้วไซร้ อาจจะต้อง ทำพิธีในเดือนชง ในวันชง และในยามชงด้วย ลองคิดดูว่าจะมากมายแค่ไหน หากว่าจะทำพิธีแก้ยามชงด้วย แปลว่า เราทุกคนต้องไหว้เพื่อแก้ชง ทุกวัน แล้วใครสักคนอย่าบอกว่า วันชง ไม่สำคัญเท่าปีชง เพราะในตำราโหราศาสตร์จีนโบราณระบุไว้อย่างแน่ชัดว่า ยาม นั้นสำคัญกว่า ปีเกิดตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเสียอีก แต่สำคัญอย่างยิ่งยวดในบริบทบางอย่างของความก้าวหน้าชีวิต ปีเป็นรากฐาน ส่วนยามนั้นเป็นความก้าวหน้า สองสิ่งนี้เป็นปฏิภาคต่อกันอยู่ จึงมีตำราโหราศาสตร์จีนบางประเภทที่เน้นอาศัย ยามเกิด ในการทำนาย แทนที่จะอาศัยปีเกิด หรือบางตำราทำนายขึ้นจากการพิจารณา ปีเกิดร่วมกับยามเกิด โดยไม่นำทั้งหมด ปี เดือน วัน และยามมาพิจารณา และไม่ได้ชื่อวิชา โป๊ยหยี่สีเถียวด้วย เป็นตำราที่เชื่อว่ากุนซือผู้เลื่องชื่อสมัยโบราณท่านนึงเป็นผู้แต่งขึ้นมา คือท่าน หวังฉาน 王婵 หรือฉายาว่า กุ๋ยกู่เซียนเซิง 鬼谷先生 ซึ่งผมได้ใช้ตำราของท่านทำนายดวงชะตาคนร่วมกับวิชาโป๊ยหยี่สีเถียวมานาน 6-7 ปีได้ โดยนำมาผนวกเข้ากับวิชาอี้จิง และผังดวงชะตาแบบปาจื้อ หรือ โป๊ยหยี่สีเถียว ตำรานี้เป็นความยากอย่างหนึ่งของโหราศาสตร์จีน และยิ่งย้ำสิ่งที่ได้ชี้แจงไปตอนต้นว่า โหราศาสตร์จีนซ่อนเคล็ดเอาไว้มากมาย หากไม่มีอาจารย์ช่วยชี้แนะ ไม่อาจเข้าใจได้เลย เพราะตำราเช่นว่านี้ เป็นคำกลอนปริศนาทั้งเล่ม อ่านแบบภาษาจีนโบราณตีความตามอักษรไม่ได้ ต้องเข้าใจภาพรวมและสิ่งที่คำกลอนนั้นกำลังกล่าวถึงด้วย เลยยากที่จะนำมาสอนท่านที่ไม่รู้ภาษาจีน ผมเลยข้ามไปและไม่เคยเอ่ยถึงว่า ผมได้ใช้ตำราดังกล่าวในบางดวงชะตาที่ต้องการความชัดเจนในบางเรื่องที่ วิชาปาจื้อ หรือ โป๊ยหยี่สีเถียวไม่ได้ชี้ชัดเอาไว้

ตำราหนึ่งที่น่าสนใจ ชื่อว่า ตำราตีเทียนสุย อายุนับพันปีเช่นเดียวกัน แล้วมีการนำมาอธิบายขยายความหลายต่อหลายสำนัก สำนักที่สำคัญคือสมัยราชวงศ์หมิง ของเสนาบดีคนสำคัญต้นราชวงศ์นามว่า หลิวจี 刘基 คนไทยอาจรู้จักกันบ้างว่า ท่านชื่อ หลิวป๋อเวิน 刘伯温 ว่ากันว่าท่านเป็นคนวางรากฐานการสร้างเมือง และการปกครองแผ่นดินสมัยราชวงศ์หมิงคนสำคัญที่นอกจากมีวิชาโหราศาสตร์ยังเชี่ยวชาญด้านเวทย์มนต์ด้วย จะเห็นได้ว่า ตำราโหราศาสตร์จีนบางฉบับ ได้เป็นที่สนใจศึกษาของปราชญ์จีนจนนำมาสู่คำอธิบายให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่ตำราอีกมากมาย ไม่มีการอธิบายชี้แนะเคล็ดลับหรือความเข้าใจต่างๆนี้เอาไว้ ข้อความในตำรา ตีเทียนสุย บทนึงระบุว่า 暗冲暗会尤为喜,彼冲我兮皆冲起 ท่านพูดไว้มา 700 กว่าปี ทั้งคิดทั้งพิมพ์เป็นตำราไม่รู้กี่ครั้ง คนก็ยังคงเถียงกันว่า ชงไม่ดี ต้องแก้ชง ทำให้เราทราบได้ว่าอะไรก็ตามมีเรื่องเงินหรือเรื่องชื่อเสียงมาเกี่ยวข้อง เป็นสิ่งที่ทำมูลค่าเป็นตัวเงินได้ คนเราก็สร้างประเด็นต่างๆ จารีต หรือพิธีกรรมของตนๆ แล้วก็มีการเถียงกันทุกที ว่าใครโบราณกว่า จริงกว่า ถูกต้องกว่า จากการอ่านข้างต้นท่านคงพอทราบแล้วว่า ความโบราณไม่อาจเป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อประกอบการยกขึ้นอ้างว่า สิ่งเหล่านี้ถูกต้องได้เลย แต่ความหัวสมัยใหม่ที่เจอเรื่องใดๆของตำราที่ตนเองไม่รู้ชัด เช่น โหราศาสตร์จีน ที่ผู้ศึกษาได้ชำแรกลึกซึ้งย่อมต้องแตกฉานในภาษาจีน กลับศึกษาโดยผิวเผิน กล่าวว่าเป็นเรื่องงมงายบ้าง เป็นเรื่องของคนเขลาบ้าง ก็ขอตอบว่าหากท่านค้นคว้าประวัติศาสตร์จีน 阴阳五行学说 วิชาห้าธาตุ วิชานักษัตรทั้งสิบสอง เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นการแพทย์ เป็นการคำนวนลมฟ้าอากาศ สอดแทรกอยู่ในการสร้างบ้านสร้างเมืองของคนจีนมาช้านาน เป็นวิชาที่ผู้ศึกษาค้นคว้าหรืออรรถาธิบายมีตั้งแต่ ชนชั้นสูงนับแต่องค์จักรพรรดิ เสนาอำมาตย์ ไปจนถึงนักพรต แพทย์ หรือประชาชนทั่วไป ทั้งหมดก็เพื่อความผาสุขของสังคมในระดับต่างๆตั้งแต่เล็กไปใหญ่ และการแสวงหาหนทางเจริญและมีความสุขของชีวิตคน ช่วยเหลือผู้คน ดังนั้น อ่านมาถึงตรงนี้ อย่าพึ่งเข้าใจว่า ผมไม่เห็นด้วยกับพิธีแก้ชง หรือกล่าวว่า การแก้ชงเป็นเรื่องงมงาย หรือเรื่องที่คนเขลาทำกัน หากแต่กำลังยกตำรามาอ้างอิงกับเล่าประสบการณ์ของตนว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องโบราณ และไม่มีการรับรองในตำรามาตรฐานว่า เมื่อเจอปีชง คนต้องแก้ชง

วลีข้างต้นอาจพอแปลความอย่างสังเขปได้ว่า 暗冲暗会尤为喜 หากว่าเจอ ชง หรือ เจอ ฮุ่ย นั้นอาจนับได้ว่า โชคดี 彼冲我兮皆冲起 เมื่อ คู่ตรงข้าม เข้ามา ชง ฉัน ย่อมเกิดผล (ขึ้นหรือลง) ให้เด่นชัดขึ้น

เมื่อค้นคว้า ตำราโหราศาสตร์จีน สมัยราชวงศ์ชิงปลายๆ ขึ้นไป ผมก็ไม่เจอ 犯太岁 หรือ 冲太岁 หมายถึงไม่เจอเรื่อง หรือหัวข้อเกี่ยวกับ ดวงชะตากระทบร้ายใส่เทพคุ้มครองดวงชะตา หรือ ดวงชะตาชงกับเทพคุ้มครองดวงชะตา หรือชงปีเกิดแล้ว นั้นแปลว่า เรื่อง ปีชง หรือ แก้ปีชง ไม่ใช่เรื่อง โบราณแต่ประการใด พิธีกรรมต่างๆ ตลอดจนของไหว้ ล้วนเป็นของแต่งขึ้นมาใหม่ในยุคหลังๆเท่านั้นเอง ที่สำคัญคือ แก้ชง ไม่หายด้วย เพราะ ชง เป็นคำศัพท์ในการใช้คำนวนและทำนายดวงชะตาแบบโหราศาสตร์จีน ทั้งๆที่แพทย์จีนก็มีการใช้คำศัพท์ 12 ก้านดิน ในการบอกเวลา หรือ บอกเส้นลมปราณในบางที่บางตำรา แต่ก็ไม่ได้เอาเรื่อง ชง เข้าไปใช้แต่ประการใด ยิ่งชี้ชัดได้ว่า ชง เป็นเรื่องของ โหรจีนบนกระดานโหรล้วนๆคือ ใช้ในภาคการคำนวน ไม่ได้เป็นแรงพลังงานที่อยู่บนความจริงบนท้องฟ้า หรือ โลก ไม่เหมือนดาวเคลื่อน หรือ การหมุนรอบตัวเองของดวงดาวที่มีอยู่จริง ต่อให้บางทีการคำนวนจะเคลื่อนจากความจริงบนท้องฟ้าก็ยังมีอยู่จริง ต่างกับ พลังงานชง ไม่ได้มีอยู่จริงในสิ่งแวดล้อม แต่เป็น เครื่องมือ หรือ สัญลักษณ์สมการ ในผังดวงชะตาจีน ทำพิธีแก้อะไรไปก็ไม่ได้ทำให้สามารถ ลบ ชงออกไปจากผังดวงได้ หากว่าผังดวงนั้นมี การชงอยู่ ไม่ว่า ดวงชง ดวงชะตาชง หรือ ปีชง ปีมาชงดวงขะตาก็ตาม ปีชงหากว่ากันตามตำราโหรจีนโบราณแทบจะส่งผลน้อยมากๆกับดวงชะตา เทียบไม่ได้กับ เดือนชง หรือ ปีไฮ่ 害 ปีสิง 刑 ซึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่า ดวงชะตาเราโดนปีจรที่เข้ามา สิง หรือ ไฮ่ ได้นั้น ก็ต้องขึ้นผังดวงชะตาคำนวน นั้นก็แปลว่า ทั้งหมดอยู่บนหน้ากระดาน สภาพจริงในชีวิตเป็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการนำสัญลักษณ์ สมการนั้นมาถอดคำทำนาย

ผมกลับเห็นด้วยกับ การแก้ชง หรือให้มีพิธีแก้ชงนะครับ หากแต่ควรทำพิธีให้ถูกต้องตามสิ่งที่ควรทำ แล้วเมื่อทำแบบนี้แล้วจะไม่ขัดแย้งกับหลักการทางพระพุทธศาสนาในความเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึง อุบาสกรัตนะ หรืออุบาสกบุณฑริก อันแปลความได้ว่า ผู้นั่งใกล้หรือผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างครบพร้อมสมควรแก่การได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิก โดยมีองค์ประกอบสำคัญในนั้นคือ การเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว น่าสนใจที่ท่านใช้คำว่า ตื่นข่าวด้วย ในการแปลพระบาฬี ก็เป็นดั่งเช่นว่านั้นเลยครับ พอมีอะไรเป็นมงคลขึ้นมา ก็ชวนให้ตื่นข่าว คือนอกจากตื่นเต้นเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมแล้วก็ยังเป็นที่ตื่นหูตื่นใจผู้ได้รับรู้เองด้วย ว่าน่าเชื่อถือ หรือควรเชื่อ หากท่านนำเรื่องชง เป็นหมุดหมายในการเตือนสติให้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต เช่นเดียวกับที่เมื่อเราเหลียวมองหน้าปัดนาฬิกาอาจจะยังนึกไม่ออกว่าควรทำอะไร หรือบางทีเพลินทำสิ่งต่างๆเกินเวลา เมื่อสมัยนี้โทรศัพท์สามารถบอกเวลาทั้งยังตั้งการแจ้งเตือนให้แจ้งเรื่องราวต่างๆได้ ปฏิทินก็เช่นกัน กรณี ปีชง หรือ เดือน วัน ยาม ที่ชง ก็สามารถกำหนดให้เป็นสิ่งเตือนใจว่า เราควรหันกลับมาสำรวจตนเอง หรือกระทำสิ่งใดให้เจริญ ปรับปรุงแก้ไขสิ่งใดในชีวิต เตือนย้ำลงไปอีกรอบ ย่อมมีประโยชน์สำหรับคนที่ยังศรัทธาไม่ตั้งมั่น หรือกำลังอยู่ในชีวิตเพื่อการเพิ่มพูนปัญญา ผมได้กล่าวเสมอว่า หากใช้โหราศาสตร์จีนอย่างถูกทาง โดยเฉพาะวิชา ปาจื้อ และ โหงวเฮ้งนี้ได้ ย่อมจะสร้างคุณประโยชน์ได้อีกมาก และไม่ผิดทางในพระพุทธศาสนาด้วย คือ ใช้ในการทำความรู้จักตนเองในแง่มุมที่อาจมองข้าม และรู้จักผู้อื่นที่เราต้องมีสัมพันธ์ด้วย หรือต้องการช่วยเหลือ เฉกเช่นเดียวกับ การใช้วิชาฟังเสียง ดูท่าทางสีหน้า และการจับชีพจรของแพทย์จีน ก็เป็นเครื่องมือสำรวจร่างกายคนว่ามีความบกพร่องหรือแข็งแรงตรงไหน วิธีการเมื่อเราทราบความบกพร่องนั้น แล้วจะแก้ต่างหากที่สำคัญ หากเป็นวิธีการผิดศีลหรือผิดธรรม ย่อมไม่อาจแก้ปัญหานั้นได้อย่างดี ทั้งยังอาจเกิดผลร้ายในอนาคต แต่หากเรารู้แล้วสำรวจแล้วว่าที่ไปที่มาเป็นอย่างไร เราศึกษาและน้อมนำให้ประพฤติในแนวทางธรรม ไม่เชื่อตำราโบราณเกินกว่าพระสัทธรรม ศึกษาให้รู้ชัดทั้งด้านความรู้และการปฏิบัติธรรมให้ยิ่งๆขึ้นไป ย่อมได้ประโยชน์คือ นำมาแก้ไขปัญหาชีวิตได้ และส่งผลให้เมื่อปฏิบัติถึงสภาวะก็ไม่ต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้ วางลงโดยเวลาอันควร ไม่งมงาย เช่นเดียวกับที่คงไม่มีใครแบกรถขึ้นบ่า เมื่อขับรถมาถึงจุดหมายได้แล้ว ย่อมเดินเท้าต่อ หรือเข้าไปในที่พักอันควร วางรถเอาไว้ในที่จอด แต่เมื่อการเดินทางยังไม่สิ้น วางสักพักก็ต้องกลับมาขับรถต่อไป วิชาโหราศาสตร์ก็เป็นวิชาหนึ่งที่เราจะใช้ให้เหมาะแก่จริตนิสัย หรือสติกำลังของแต่ละคนๆ ขอให้เราตั้งเป้าไม่ศึกษาหรือแก้ไข หรือทำพิธีกรรมที่นอกแนวทางคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันจะกล่าวว่า พิธีกรรมทั้งหมด เช่นการจุดธูปเทียน การสวดมนต์ เป็นของไร้ค่า สมัยพุทธกาลไม่มีกระถางธูป ไม่มีการจุดเทียนไหว้ต่อหน้าพระศาสดา เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของคนไม่ฉลาดก็ไม่ได้ ยิ่งการจุดเทียน หรือ ธูปนั้น ยิ่งชี้ชัดว่านี้ไม่ใช่ประเพณีไทย และไม่ได้มาจากพระพุทธศานาทางอินเดีย เพราะธูปก้านที่เราใช้จุดกันนั้น เป็นของคนจีน คนสยามเรานำเอาความรู้และจารีตทางจีน ผนวกเอาไว้กับพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะด้านพิธีกรรมอย่างกลมกลืน จนบางครั้งเรามองข้ามไปเพราะทำกันอย่างแพร่หลาย ลืมไปว่า การจุดธูปบูชาพระ ธูปนี้เป็นของจีน การจุดเครื่องหอมอาจเป็นของอารยธรรมอินเดียได้ด้วย แต่ธูปก็ยังเป็นสิ่งที่คนจีนประดิษฐ์ขึ้น แม้แต่เทียนไขซึ่งมีในหลายๆอารยธรรม แต่เทียนไขแบบที่คนสยามใช้กันก็เป็นประดิษฐกรรมของคนจีน เชิงเถียง หรือกระถางธูปนั้นด้วย คนจีนเรียกว่า เครื่องห้า ประกอบด้วย กระถางหนึ่ง แจกันสอง เชิงเทียนสอง อันสถานที่ควรเคารพทั้งหลายก็ได้ตั้งแต่งเอาไว้ หิ้งพระก็เช่นเดียวกัน หากสืบย้อนลงไปก็เป็นจารีตทางฝ่ายจีนที่คนสยามนำมาสร้างใหม่ ให้เหมาะควรแก่บ้านเมืองสังคมสยาม เรานำความรู้จีนมาผนวกเพื่อสนับสนุนพระพุทธศาสนากันมานานแล้ว จะเรียกอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะพุทธศาสนิกชนจีนที่เคยอาศัยอยู่ในสยามมาในโบราณสมัยอาจเป็นผู้สร้างสิ่งนี้ก็ได้ เช่นเดียวกับ สถาปัตยกรรมฝีมือช่างจีน ช่างมอญ และช่างต่างชาติที่ปรากฎในวัดและวังไทยมากมาย งดงามโดดเด่นปราณีต ทั้งหมดก็เป็นการนำความรู้ทางโลกๆ มาถวายเป็นพุทธบูชา หรือนำความรู้ทางโลกๆ มาช่วยเหลือพระศาสนาตามแนวทางความรู้ที่ตนมีหรือถนัด โหราศาสตร์จีนจึงไม่ใช่วิชางมงายหากว่านำมาใช้ในขอบเขตที่ถูกต้อง โดยมีสติรู้ว่าเป็นวิชาทางโลก ไม่อาจเชื่อในถ้อยคำปราชญ์หรือตำราใดๆได้หากขัดหรือแย้งกับพระธรรมคำสอน ตรงนี้ต้องระลึกไว้เสมอ ต้องกล้าขืนคำครู ไม่ปลงใจเชื่อไปเสียทั้งหมด ผมพูดมาว่า คำกล่าวอ้างไม่ควรเชื่อ ควรเชื่อตำรา ตำราโบราณก็เชื่อหมดไม่ได้ โหรจีนมีเคล็ดเยอะ เรียนรู้ต้องมีอาจารย์ชี้แนะ แต่ต่อให้มีตำราดี อาจารย์ดี ก็อาจชี้ทางผิด หากไม่ตั้งจิตเอาไว้ให้ดี และไม่มีความรู้ในพระพุทธศาสนาทั้งในเนื้อหาและการได้ปฏิบัติ กล่าวโดยสรุปว่า รู้โหรแต่ไม่รู้พุทธธรรมจะมึนมน รู้โหรและรู้พุทธธรรมก็อาจทำให้เนิ่นช้า หรือชีวิตดูสบายแก้ไขได้ แต่อาจลังเล โอนเอนไปตามกระแส รู้พุทธธรรมแต่ไม่รู้โหร พาชีวิตให้ก้าวหน้าได้ โหรต้องอยู่ใต้พุทธธรรมจึงนำมาชีวิตให้อำไพ แต่มีพุทธธรรมนั้นไซร้จะไม่รู้โหรเลยก็ได้ ยังไงชีวิตก็อำไพกว่ามากนัก เพราะไม่ต้องเสียเวลาแบกความรู้หลายแขนง กินยาหลายขนาน ซึ่งต้องดูตนเองด้วย เช่นเดียวกับคนที่ร่างกายมักป่วยง่าย จะมาเดินจงกรมเป็นระยะทางไกลๆ ไม่มีความรู้เรื่องการดูแลตนเองหรือสมุนไพร ร่างกายแย่ จะทำกรรมฐานหรือทำความก้าวหน้าทางธรรมก็ไม่ได้ เช่นนี้ก็ต้องแบกความรู้มากกว่าแค่ศึกษาพระธรรมต้องรู้จักการดูแลร่างกายการแพทย์ด้วย หรือคนที่ชีวิตสั่งสมบุญบาปมาซับซ้อนหรือต้องช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ก็ต้องมีความรู้เรื่องปฏิทินหรือดวงดาวด้วย วันพระ ไม่ได้คำนวนกันโดยอาศัยความรู้ปฏิทินและดาราศาสตร์หรอกหรือ คนโบราณที่ศึกษาเรื่องดาราศาสตร์ในสยามนั้นล้วนมีวิชาโหร เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน พระสมัยโบราณบางรูปบางองค์เลยมีความรู้ทางยา มีความรู้ทางโหร แต่ไม่ได้ใช้วิชาเหล่านั้นเพื่อหาเลี้ยงชีพ กลับใช้สงเคราะห์ช่วยเหลือคณะสงฆ์หรือผู้คนทั้งหลาย เป็นการเมตตากรุณา กรณีชงก็เช่นเดียวกัน หากท่านเชื่อว่า มีเทพยดาประจำชะตาตน ประจำชะตาปีจร หรือประจำดวงดาว อย่างเช่นที่ตำราจีนก็ดี ไทยก็ดี ระบุเอาไว้ ก็ขอให้ท่านทราบว่า ใน 11 ประการของอานิสงค์การเจริญเมตตาภาวนานั้น เช่น การเป็นที่รักของอมุษย์ ก็รวมถึงเทพยดาด้วย การเป็นที่รักของมนุษย์ การไม่ฝันร้าย การไม่ถึงแก่ชีวิตด้วยภัยแห่ง ไฟ ยาพิษ หรืออาวุธ ฯ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ถูกยกขึ้นมาในการบอกข้อดีของพิธีปัดชง พิธีแก้ชง โดยที่ดีกว่าเราต้องไปสวดอ้อนวอนหรือเผากระดาษเขียนชื่อเขียนดวงกว่ามากๆ คือ หันมาใส่ใจที่ตนเองและศึกษาปฏิบัติในเมตตาภาวนา ใจแล่นคิดถึงใครก็ประกอบด้วยเมตตาคือให้ผู้นั้นเกิดสุข เป็นต้น

มาถึงประเด็นสุดท้ายที่ผมถือว่า เป็นประเด็นใหม่ในปี 2567 นี้คือ การถกเถียงกันว่า ปีนี้เป็นมะโรงธาตุไฟ หรือ มะโรงธาตุไม้กันแน่ ตกลงนักษัตรมะโรงนี้ ธาตุอะไรกันแน่ ขอชี้แจงโดยเอานิสัยนักกฎหมายมาพูดว่า การตีความเรื่องนี้ต้องตึความตามตำราและตัวอักษร ทั้งยังต้องเข้าใจภาษาจีน มีความรู้โหรจีน ด้วย จึงจะตีความได้ถูกต้อง น่าอิน 纳音 ในภาษาจีนแต๊จิ๋วว่า นับอิม เป็นโหรวิธีนึงในสมัยโบราณเพื่อทำนายดวงชะตาโดยที่วิธีนี้ เกิดขึ้นก่อน วิธีสี่เสาแปดอักษร หมายความว่า น่าอินเกิดขึ้นก่อนโป๊ยหยี่ หรือปาจื้อ มีหลักฐานกล่าวเกริ่มตอนต้นเอาไว้หลายตำราโหราศาสตร์จีนว่าแต่เดิมมีเพียง สามเสาดวงชะตา ไม่ใช่ สี่เสาดวงชะตา และโดยมาก็ใช้ โหรวิธีน่าอิน นี้หละเป็นตัวทำนาย ต่อมาให้การยกย่องว่าท่าน สวีจื้อผิง 徐子平 ปรับปรุงและเพิ่มเสายามเข้าไป จนได้ชื่ออีกอันของวิชาโป๊ยหยี่หรือปาจื้อ อันเป็นวิชาใหญ่ในโหราศาสตร์จีนว่า 子平八字 วิชาปาจื้อของท่านจื่อผิง แต้จิ๋วว่า จื้อเพ้งโป๊ยหยี่ แต่ถ้าใครอ่านตำราที่อ้างว่าแต่งโดยท่าน จื่อผิง จะพบว่า หลายตำราระบุว่าคนคิดแถวที่สี่ไม่ใช่ท่านจื่อผิง หรือสำนักของท่าน แต่ท่านเป็นคนนำมาเขียนคำอธิบายหรือแต่งตำราเพิ่ม น่าอิน 纳音 มีทั้งหมด 30 แบบ จากนักษัตรที่ใช้บอกเวลาปี เดือน วัน หรือยามของจีนที่มีทั้งหมด 60 แบบ เรียก 60 กะจื้อ เมื่อใครก็ตามมีอายุเวียนครบ 60 นี้จึงถือว่าเป็นผู้มีอายุยืน หรือเป็นผู้อาวุโสโดยแท้ บางทีคนจีนมักจัดงานอวยพรและงานคารวะให้ เรียกว่าครบรอบนักษัตรใหญ่ ในทางฮวงจุ้ยก็ใช้วงรอบ 60 ปีนี้เช่นเดียวกันในการคำนวนกำหนดอายุของฮวงจุ้ยฝั่งดาวเหิน หรือ ดาวบิน ที่เราจะเห็นได้ว่า เปลี่ยนยุคแล้วจากยุคแปดเป็นเก้า แต่วิชานี้ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของฮวงจุ้ย แปลว่า การเปลี่ยนยุคไม่ใช่ทั้งหมดของฮวงจุ้ย เป็นเพียงแขนงหนึ่งในวิชาสาขานึงของฮวงจุ้ย เช่นเดียวกับที่ ปีชง เป็นความสัมพันธ์หนึ่งในวิชาปาจื้อ อันเป็นสาขาหนึ่งของวิชาโหราศาสตร์จีน น่าอิน 纳音 ของปีมะโรงปีนี้ ได้ว่า 覆灯火 หมายถึง ปีมะโรง 2567 นี้เป็น ปีไฟดวงประทีปซึ่งไม่ใช่แค่ปีนี้ เพราะน่าอิน กินเวลาสองปี ปีหน้าปีมะเส็ง ก็เป็นปีไฟดวงประทีปเช่นกัน เพราะใน 30 แบบของ น่าอิน ก็มีไฟอยู่หลายประเภท เช่น ปี 2529-2530 เป็นปีไฟในเตา 炉中火ผมใช้คำว่า ปีไฟในประทีป ไม่ได้ใช้คำว่า ปีธาตุไฟในประทีป แม้จะใช้คำว่า 火 เหมือนกัน แปลได้ทั้ง ไฟ หรือ ธาตุไฟ แต่ในบริบทนี่ต้องแปลว่า ปีไฟในประทีป เนื่องจากไม่ได้กล่าวถึงธาตุไฟที่เป็นมหาภูติรูป ในหมวด ดิน ทอง น้ำ ไม้ ไฟ แต่กล่าวถึง ไฟ ในสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นสัมผัสได้บนโลก ท่านลองไล่อ่าน น่าอิน ทั้ง 30 แบบจะทราบว่าเป็นเรื่องของสิ่งต่างๆในธรรมชาติ ไม่ได้หมายรวมเอาทั้งหมดของธาตุไฟ ที่เป็นเรื่องของร่างกายมาประกอบด้วย หมายความว่า ถ้ามีการเขียน น่าอินสักอันว่า ไฟในตับ หรือไฟในหัวใจ ผมจะนับว่าเป็นเรื่องของธาตุ เพราะห้าธาตุต้องประกอบด้วยเรื่องภายในกายและภายนอกกายได้ จากข้อสังเกตดังกล่าวจึงทราบได้ว่า น่าอินถูกสร้างเพื่อการตีความเพื่อทำนาย และให้จดจำได้แพร่หลาย สำนักหมอดูตาบอดเป็นสำนึกใหญ่หนึ่งของโหราศาสตร์จีนมาแต่โบราณ สามารถมีกลอนจีนท่องเพื่อคำนวนน่าอิน หรือ คำนวน ปี เดือน วัน ยาม หรือตั้งดวงคนได้โดยไม่ต้องอาศัยปฏิทิน ปีมะโรงปีนี้เลยเป็น ปีไฟ ปีไฟดวงประทีป เมื่อหันกลับมามองที่การบอกปีปฏิทินจีนที่ใช้ระบบกานจือ 干支历法 มาตั้งแต่สมัยโบราณโดยอิงเอาสุริยวิถีเป็นหลักจนหลายท่านเข้าใจว่านี่คือ ปฏิทินสุริยคติ จะกล่าวแบบนั้นก็ได้ แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด บ้างกล่าวว่าเป็นปฏิทินชาวนาหรือกสิกรรม 农历 ชื่อ ปฏิทินหนงลี่ ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะปฏิทินหนงลี่ใช้จันทรคติมากกว่า ทั้งชื่อว่า ปฏิทินชาวนาผมก็ไม่เห็นด้วยกับคำแปล เพราะคำว่า 农 จะแปลว่า กสิกรรม หรือแปลว่า ชาวนาก็ไม่ได้ เช่น ชื่อ 神农 อันเป็นเทพจีนด้วย เชื่อว่าเป็นปฐมกษัตริย์ด้วย กล่าวความหมายชื่อและสิ่งที่ท่านทำในยุคนั้นว่า ทำด้านการเกษตร กสิกรรม การแพทย์ ยาสมุนไพร และการปกครองพื้นฐานด้วย คำว่า 农历 จึงไม่ใช่ปฏิทินที่ใช้เพียงแต่ชาวนา แต่เป็นปฏิทินบ้านเมืองที่อิงเกษตรกรรม ไม่ควรแปลว่า ปฏิทินเกษตร หรือ ปฏิทินกสิกรรมด้วย เรียกให้ถูกควรเรียก ปฏิทินชาวบ้านชาวนิคม คือ ของชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายปฏิทินระบบกานจือ ระบุว่า ปี 2567 นี้เป็นปี เจี่ยเฉิน 甲辰 จะเห็นได้ว่าประกอบด้วยอักษร 2 ตัว ตัวด้านหลังคือ 辰 เฉิน มีความหมายว่า นักษัตรมะโรง ซึ่งไม่อาจแปลว่า มะโรงธาตุดินได้ เพราะตำราโหราศาสตร์จีนระบุชัด ดินประจำธาตุมะโรงนี้เป็นดินฝ่ายหยาง ไม่นับรวมฝ่ายอิน ทั้งยังมี ธาตุไม้อิน และธาตุน้ำอิน ประสมร่วมแปลว่า จะพูดชื่อให้ถูกต้องบอกว่า มะโรงนั้นไม่ว่าปีใดๆ ก็เป็นธาตุดิน ฝ่ายหยาง 阳土 ที่ประกอบด้วย ธาตุน้ำ ฝ่ายอิน 阴水 และธาตุไม้ ฝ่ายอิน 阴木 ตัวอักษรด้านหน้าคือ 甲 เจี่ย แปลว่า ธาตุไม้ ฝ่ายหรือพลังหยาง 阳木 การที่ต้องประกอบด้วยสองอักษรก็วางอยู่บนเงื่อนไข ฟ้า และดิน ต่อให้หลายตำราโบราณจะกล่าวว่านี้เป็นการคำนวนตามวงโคจรของดาวพฤหัส อันมีอีกชื่อว่า ดาวไท้ส่วย หรือดาวประจำชะตา ผมก็ไม่เห็นด้วยไปทั้งหมด เพราะลำพังจะเอาแค่ดาวพฤหัสมาบอกเรื่องราวชีวิตทั้งหมดคงไม่ได้ และวงรอบนี้ใช้ทั้ง เดือน วัน และยาม แต่ดาวพฤหัสนั้นเคลื่อนที่ครบวงรอบที่ 60 ปี หาได้ครบวงรอบในทุกๆ 60 ชั่วยามหรือ 60 วันด้วยไม่ นี่เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวว่าเป็นความสอดคล้องของตัวเลขความลับจักรวาลที่มี 60 ตรงกันพอดี จะบอกว่าไม่เกี่ยวกันไปเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ แต่ไม่ใช่นำวงรอบนี้มาคำนวนตั้งสิ่งที่เรียกว่า 60 กะจื้อ หรือ พฤหัสจักร แน่นอน เมื่อปี 2567 นี้ถูกเขียนเรียกขานว่า เจี่ยเฉิน 甲辰 ย่อมมีความซับซ้อนที่แปลออกมาแล้วฟังดูชวน งง คือ เมื่อแปลตามไวยากรณ์จีนทั่วไปอาจเรียกว่า ปีมะโรงอันสถิตด้วยธาตุไม้พลังหยาง แปลว่า ไม่ใช่ ปีมะโรงธาตุไม้ หรือ wood dragon ยิ่งไม่ใช่ wooden dragon และไม่ได้แปลว่า มะโรงมีทั้งหมด 5 แบบ ได้แก่ มะโรงไม้ มะโรงไฟ มะโรงดิน มะโรงทอง มะโรงน้ำ แบบที่เข้าใจกัน เพราะมะโรงมีอยู่แบบเดียวธาตุเดียวคือ มะโรงดินพลังอิน หรือ ในตำราพรหมชาติของไทย กล่าวว่า มะโรงนี้ ธาตุดิน เพราะคำว่า 甲 หรือไม้พลังหยางนี้ไม่ใช่ คำขยายของ 辰 เมื่อท่านอ่านตำราจีนมามากๆท่านจะพบว่า 甲และ辰 เป็นการนำคำสองคำมาประกอบกัน เหมือนเราเขียนสมการว่า X+Y ไม่ได้แปลว่า XมาขยายY จะแปลให้ถูกนั้น 辰 มาขยายคำว่า 甲 เสียด้วยซ้ำ จึงควรแปลความว่า ปีไม้หยางคู่มะโรง ไม่ได้แปลจากหลังมาหน้า เพราะสองคำนี้ไม่ได้ขยายกัน เป็นอักษรสองคำคู่กัน ทำไมผมจึงกล่าวว่า 辰 มาขยายคำว่า 甲 เนื่องจากเวลาเราตั้งผังดวงชะตาเรานำ 甲 ที่เรียกว่า กิ่งของฟ้า หรือกิ่งต้นไม้ชีวิตอันได้รับพลังจากฟ้า มาเป็นตัวหลักในการหาธาตุประจำชะตา หรือธาตุประจำตัว เอานักษัตรที่ได้รับฉายาว่า ก้านของดิน หรือ ก้านต้นไม้ชีวิตที่ได้รับพลังจากดิน มาเป็นตัวประกบขยายความ การจะบอกปีจีนด้วยคำว่า 甲辰 ให้ถูกต้อง ควรแปลเป็นภาษาไทยว่า ปีไม้พลังหยางคู่มะโรง หรือ ปีธาตุไม้คู่มะโรง หากต้องการกล่าวระบุเน้นชัดๆว่า ปีนี้เป็นปีมะโรง ก็ไม่ควรใช้คำว่า ปีมะโรงไม้ ใช้คำว่า ปีมะโรงไฟจะถูกต้องกว่า แต่ย่อเกินไป เพราะบอกแล้วว่า ไฟประทีปตามหลัก น่าอิน纳音 นั้น กินความที่สองปี คือ 2567 (ปีมะโรง) กับ 2568 (ปีมะเส็ง) ที่ถูกต้องควรเป็น ปีมะโรงไฟประทีป หรือหากจะพูดแบบไม่ให้ผิดเลย ก็ย้อนกลับมาครับ ย้อนมาที่คำสมัยโบราณเวลาเราเรียกปี แบบที่เราไม่สนใจอยากจะแก้ชง หรือไหว้เทพตามกระแสสมัยนี้ เราเรียกกันมาแต่ช้านานว่า ปีมะโรง ครับ สั้นๆว่า ปีมะโรง ถูกต้องที่สุด ไม่ต้องเติมอะไรทั้งนั้น หรือหากอยากเรียกให้ถูกต้องก็ควรเรียกแบบทับศัทพ์ เหมือนที่เราเรียก มอเตอร์ไซต์ แทนที่จะเรียน จักรยานมอเตอร์ หรือ ยานแกนหมุนไฟฟ้า ควรเรียกปีนี้ว่า ปีเจี่ยเฉิน หรือ ปีกะซิ้ง สั้นๆ ทับศัพท์ไป เพราะเป็นการชี้ชัดว่าเรียกแบบโหราศาสตร์จีน

กรณีขุนพลต่างๆประจำ 60 กะจื้อ ที่เราเห็นว่าในปีนี้เป็นขุนพลที่ชื่อว่า หลี่เฉิงต้า 甲辰太歲李誠大將軍 จะเห็นได้ว่า เทพคุ้มครองดวงชะตาที่ยกมาประกอบการไหว้แก้ชง นั้น เป็นทหาร เป็นขุนพลทั้งสิ้น นี้ก็เป็นคนละกรณีกับโหราศาสตร์ คือ เทพเหล่านี้เป็นที่สักการะนับถือโดยที่ไม่ได้สร้างขึ้นจากความจริงในธรรมชาติ ไม่เหมือน เทพพระอาทิตย์ เทพพระจันทร์ เทพสายฟ้า หรือเทพธรณีของจีน ไม่เหมือนกับ พระภูมิเจ้าที่ของจีน และไม่ได้สร้างมาจากการนำวิชาปาจื้อมาสร้าง เป็นสองสิ่งที่ผนวกเข้ากันพอได้ เลยจับคู่มาเขียนต่อกัน ว่า ปีเจี่ยเฉินนี้ คุ้มครองโดยเทพประจำ กะจื้อ ชื่อว่าท่านขุนพลหลี่เฉิงต้า 李誠大將軍 มาภายหลังเมื่อมีการไหว้เทพคุ้มครองดวงชะตา หรือเทพไท้ส่วย หรือ เทพไท่ซุ่ย 太歲星君 เลยแปลงจาก เทพคุ้มครองกะจื้อ ทั้ง 60 องค์ มาเป็น เทพคุ้มครองดวงชะตา (ปีกะจื้อ) ทั้ง 60 องค์ ที่ไม่เหมือนกันเพราะ กะจื้อ สามารถเป็น ปี เดือน วัน หรือยามกะจื้อได้ทั้งนั้น แต่ เทพคุ้มครองดวงชะตาหมายเอาเพียง ปีนักษัตรที่ประกอบด้วยกิ่งต้นไม้ชีวิตพลังจากฟ้า เท่านั้น แปลว่า ไท้ส่วยทั้ง 60 นี้ เดิมไม่ได้เปลี่ยนการคุ้มครองไปตามปี องค์ละปี แต่คุ้มครองตัวนักษัตรทั้ง 60 แบบ นั้นหมายความว่า ผู้ที่ไม่ได้เกิดในปี 甲辰 แต่มีนักษัตรประจำตัวตามผังดวงปาจื้อ เป็น 甲辰 ก็สามารถไหว้ได้

มีคำถามที่ว่า ไหว้แล้วได้อะไรจากการไหว้ไท้ส่วย อย่ากล่าวอ้างว่า การไหว้เทวดาเป็นเทวตาพลีไปเสียทั้งหมด เพราะเทวดาบางองค์เป็นสิ่งที่มนุษย์แต่งขึ้นไม่ได้มีอยู่จริงบนสวรรค์ ผมไม่ได้ยืนยันว่าทั้ง 60 ไท้ส่วยไม่ได้มีจริงบนสวรรค์ แต่ผมยืนยันได้ว่าไม่ใช่เทวดาจีนทุกองค์ทีตัวตนจริง เช่น ฮก 福 ลก 禄 ซิ่ว 寿 ไม่ใช่เทวดา 3 องค์คู่กันที่มีตัวตนจริง เป็นสัญลักษณ์เชิงอักษรอวยพร ที่ถูกสร้างให้มีรูปลักษณ์แล้วไปยืมเอาเทพยดาที่มีอยู่จริงในตำนานจีน แต่ไม่แน่ว่ามีตัวตนในสวรรค์มาประกอบ ได้แก่ เอาท่าน หนันจี๋เซียนเวิง 南极仙翁 มาเป็น ดาวโซ่ว 寿星 หรือ ซิ่ว 寿 เอาท่านเทียนกวนมาเป็นดาวฮก ที่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ท่านเป็นดาวลก เพราะเห็นท่านสวมหมวกขุนนางมีปีกยาวๆ น่าจะหมายถึง ลก 禄 แต่จริงๆ หมายถึง ฮก 福 หลักฐานจากวลีมงคลคือ 天官赐福 เทพเทียนกวน(ขุนนางสวรรค์อวยพรฮก-ความโชคดี) ส่วนเทพ ลก นั้นเป็นเทพที่หมวกผ้าคลุมศีรษะ ดังนั้น หากอ่านตามการเรียงกันของรูปปั้นในทุกบ้านต้องอ่านว่า ลก ฮก สิ่ว แทนที่จะอ่าน ว่า ฮก ลก ซิ่ว จากซ้ายมาขวา

ที่ต้องเน้นย้ำว่า ไม่ใช่ทุกการไหว้เทพยดาถือเป็นเทวตาพลี เพราะเรื่องพลีทั้งห้าในพระไตรปิฎกนั้น ท่านมุ่งสอนให้ไม่ละเลยการไหว้ที่คุณศีลคุณธรรมของบุคคลนั้น หรือไหว้บุคคลนั้นๆเพราะท่านได้ทำคุณความดีมา หรือในฐานะที่ท่านมีตัวตนจริงๆ เช่น ท้าวสักกเทวราช พระพรหม หรือท้าวจตุโลกบาล พระแม่ธรณีฯ แล้วเน้นย้ำให้ไหว้หรือเคารพพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่ควรแก่การเคารพบูชาสูงสุด อย่าเข้าใจผิดว่า ขอแค่เป็นเทวดา หรือมีชื่อว่าเป็นเทวดา โดยที่ไม่ได้มีจริงในสวรรค์เมื่อไหว้แล้วย่อมเป็นเทวตาพลี เพราะเรากำลังสักการะในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แล้วจะระลึกถึงคุณธรรมอะไรของท่าน การไหว้พวกนั้นก็เป็นแต่การสวดอ้อนวอนขอพรไปตามๆกัน หาได้มีผลที่จะนำมาชีวิตใครให้ได้รับ ความคุ้มครอง หรือ รอดจากการชงของปี ไปได้ไม่ และผมก็ไม่ได้บอกว่า การไหว้เทวดา ไม่มีส่วนช่วยให้ท่านได้รับผลดีนะครับ เพราะถ้าไหว้เทพยดาที่ท่านมีจริงมีคุณจริง การไหว้กราบนั้น ต่อให้ไม่ใช่เทวดาแต่เป็นผู้ควรแก่การไหว้ เช่น ผู้มีพระคุณต่อเรา พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือใครๆที่มีอุปการะต่อเราล้วนมีอานิสงค์คือ จตุรพิธพร พรสี่ประการมีอายุ วรรณะ สุข ปฏิภาณ ท่านจะว่าไม่มีคุณหรือการไหว้มนุษย์ด้วยกัน ลองกลับไปทำงานแล้ว ไหว้ลูกค้า ไหว้เจ้านายดู นี่ขนาดไหว้คนมีศีลครบบ้างไม่ครบบ้าง คุณธรรมมากน้อยลดหลั่น ยังได้รับความเอ็นดู หรือเป็นผู้มีมารยาทควรแก่การให้น้ำใจหรือเมตตาเลยครับ ไหว้ผู้ควรแก่การไหว้นั้น ได้บุญมีอานิสงค์กว่านี้มาก แล้วผมเคยเขียนบทความเล่าแล้วว่า หากมีเด็กสักคนนึง เดินถือของมาไหว้ท่านตอนปีใหม่ แต่ไม่เอาของให้นะ เอามาวางไว้ แล้วกะว่าสักพักจะเอากลับ มือก็ถือดอกไม้อันงามมาก้มไหว้ก้มกราบท่าน พอเงยหน้าปั้ป เด็กคนนั้นพูดกับท่านว่า โปรดฟังข้าพเจ้า รับคำร้องขอและความฝันของข้าพเจ้าไปทำให้สำเร็จมาหน่อย แล้วร่ายยาวเลยว่าขออะไรบ้าง เป็นท่านๆเป็นผู้ใหญ่ ท่านจะตามใจเด็กคนนี้ไหม ให้แค่ไหนที่เขาขอ หากแม้นมีเด็กอีกคนนึงที่มาตัวเปล่า หรืออาจจะไม่ได้มาไหว้เลยแต่เขาทำตัวดี เป็นคนดี ช่วยเหลือสังคม ประกอบกิจการงานเลี้ยงตนหรือตั้งใจเรียน คนไหนน่าช่วยกว่า น่าให้กว่า โดยที่เขาอาจจะไม่ได้เรียกร้อง หรืออาจงอแงท้อแท้บ้างยามเหนื่อย นึกถึงหรือไม่นึกถึงท่านบ้าง บางทีอาจไม่รู้จักท่านเลย ท่านเห็นท่านอยากช่วยไหม อยากช่วยใครมากกว่ากัน ยิ่งเด็กที่ไหว้ผู้ใหญ่คนเดียวกับที่ท่านเองก็นับถือ ท่านจะยิ่งรู้สึกสนิทเบาๆไหม เช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่เปรียบเทียบนั้นอาจเป็นเทวดาองค์เดียวกัน หรือ นับถือศาสนาเดียวกัน

พิธีไหว้นั้นสำคัญ การไหว้นั้นก็สำคัญ และมีอานิสงค์จริงๆ แต่ทุกการไหว้เทวดาไม่ใช่เทวตาพลีเสมอไป และควรเน้นที่จิตใจ และสิ่งที่เราควรบูชาและสิ่งที่เราใช้บูชาว่าไม่มีอะไรดีไปว่า ปฏิบัติ(ดี)บูชา เพราะการปฏิบัติดีสร้างเหตุดีนั้นหละ นอกจากเป็นการบูชา ผลของการทำดีนั้นย่อมส่งผล คุ้มครองชะตา แก้ไขชะตา ส่งเสริมชะตา ให้ผู้ประพฤติดีเจ้าชะตานั้นหละ มีความสุขความเจริญ เรื่องการแก้ชงจึงไม่ใช่ พิธีกรรมของคนไม่ฉลาดเสมอไป หากแม้นว่าเราทำอย่างผู้มีปัญญามีความฉลาด และมีสติเตือนตน ถามตน เสมอ

ซินแสหลั้ว 11/01/2567

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

ลูกตุ้มโมเมนตั้ม ช่วยในเรื่องของฮวงจุ้ยในการอ่านหนังสือได้

จากคำถามที่มีผู้ถามมาว่า ขออนุญาตสอบถามเกี่ยวกับ ลูกตุ้มโมเมนตั้ม นะคะ คือดิฉันไปได้ยินมาว่า สามารถช่วยในเรื่องของฮวงจุ้ยในการอ่านหนังส...

เลขมงคลประจำยุคนี้

พูดตรงๆนะ ผมไม่ใช่คนเรียบร้อยผ้าพับไว้ ผมไปเห็นบางคนบางท่านผมก็ยังนึกดีใจ ชื่นชม และบางทีก็ละอายใจ ว่า เขาเรียบร้อย หรือ...

Comments


bottom of page