คำอวยพรของจีนอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมของคนจีน แต่ผมไม่ค่อยเห็นบ่อยนักในเมืองไทยคือ วลีนี้ครับ อู่ฝูหลิงเหมิน 五福臨門
五 อู่ แปลว่า ห้า 福 ฝู แปลว่า ความสุขก็ได้ แปลว่าบุญก็ได้ 臨 หลิง แปลว่า ซึ่งหน้า หรือถึงตรงหน้า 門 เหมิน แปลว่า ประตู
แปลความได้ว่า ได้รับความสุขทั้งห้าพร้อมบริบูรณ์ คำๆนี้มักแสดงออกเป็นสัญลักษณ์ในวัด หรือศาลเจ้าจีนที่ผมอยากบอกว่า มันสนุกมากเลยนะถ้าเรามีความรู้เรื่องสัญลักษณ์มงคลจีนและภาษาจีนแล้วไปเที่ยวสถานที่พวกนี้ คุณจะพบรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่คนโบราณผูกเรื่องราวซ่อนเอาไว้ สำหรับวลีนี้ เค้าซ่อนผ่านค้างคาว คือเอาง่ายๆทีหลังไปศาลเจ้า ถ้าเจอค้างคาวก็ให้รู้ว่า เค้าหมายถึง คำว่า ฝู 福 นี้ละ แล้วลองดู ลองนับทีละตัวๆว่ามีห้ามั้ย หรือเกินกว่าห้า
ในคัมภีร์ซูจิง 書經 (คัมภีร์ที่เล่าเรื่องราวยุคก่อนราชวงศ์ฉิน) หมวดว่าด้วย หงฟ่าน 洪範 (หมวดที่กล่าวสอนเรื่องการปกครองและพูดถึงเรื่องห้าธาตุ) กล่าวความหมายของ อู่ฝู 五福 เอาไว้ว่า 一曰壽、二曰富、三曰康寧、四曰攸好德、五曰考終命 แปลความได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ
1. อายุมั่นยืนยาว 2. มั่นคงมั่งคั่งร่ำรวย 3. สุขภาพพลานามัยแข็งแรง 4. ประพฤติตนในกรอบศีลธรรมอันดี 5. ตายอย่างสงบสุข
ต่อมาตำรายุคหลัง คือ ตำราชื่อซินหลุน 新論·離事第十一 ได้แปลข้อ 5 จากเดิมคือ ตายอย่างเป็นสุข มาเป็น ลูกเต็มบ้านหลายเต็มเมือง 子孫眾多 ภายหลังก็มีคนบอกว่า ไม่เอาละ ไม่อยากตัดอันใดออกเล้ย เพราะดีๆทั้งนั้น เลยรวบยอดเป็น ลิ่วฝู 六福 หมายถึงความสุขทั้งหก แทนที่ความสุขทั้งห้าของโบราณ ได้แก่ 名(祿)、利(福)、壽、安康、善終、多子多孫 แปลความได้ว่า
1. มีเกียรติมีศรีในสังคม (ลก) 2. มีความโชคดีทำอะไรก็สำเร็จ (ฮก) 3. อายุมั่นยืนยาว (ซิ่ว) 4. สุขภาพพลานามัยแข็งแรง 5. ตายอย่างสงบสุข 6. มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง
ภาพค้างคาวห้าตัว หรือสัญลักษณ์อู่ฝู ปกติเราจะพบเห็นบ่อยคือลายผ้าไหมจีน
ผมคิดว่า อู่ฝู 五福 คือความสุขในอุดมคติของคนจีน และเป็นความรู้ในห้วงเวลาเดียวกับที่อินเดียยังไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ทีนี้ถ้าหันกลับมามองต่อมาอีกราวๆเกือบพันปี เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว ศาสนาพุทธได้เสนอหลักการความสุขเอาไว้สองแบบคือ สุขของปุถุชน หรือฆราวาส ที่แปลว่าผู้เกี่ยวข้องด้วยเรือน หรือแปลง่ายๆว่า ต้องการมีบ้าน กับ สุขของภิกษุ แปลว่า ผู้ขอ หรือสุขของบรรพชิต ที่แปลว่า ผู้ออกบวช เอาไว้สองนัย
สุขของนักบวชคือ ความวิมุตติหลุดพ้นสิ้นตัณหา สุขของชาวบ้านคือ อัตถิสุข โภคสุข อนณสุข อนวัชชสุข ทั้งสี่ความสุขแปลว่า สุขจากการมีทรัพย์ สุขจากการได้ใช้ทรัพย์ สุขจากการไม่เป็นหนี้ และสุขจากการทำตัวดีความประพฤติไม่มีโทษ เราก็จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าเข้าใจชาวบ้านมากนะ แต่เราๆท่านๆนี่หละกลับไม่เข้าใจตัวเอง
พระพุทธเจ้าเข้าใจชาวบ้านว่า ความสุขของคนธรรมดา คือ ทรัพย์ อัตถิสุขนี้นอกจากแปลว่า มีแล้ว ยังแปลว่า ภาคภูมิใจที่มีที่หามาได้ด้วย ก็ลองคิดว่าตัวเองหาเงินได้ขนาดนี้ แล้วมีเงินใช้จ่ายได้ตามที่ต้องการมันมีความสุขขนาดไหน ที่สำคัญคือ การไม่เป็นหนี้ ก็เกี่ยวกับทรัพย์อีกนั่นหละ สรุปคือ สามในสี่ความสุขของคน ขึ้นอยู่กับทรัพย์ทั้งนั้น แล้วท่านก็บอกว่าสุขสุดท้ายคือ การประพฤติไม่มีโทษ คือทำอะไรที่เค้าเตือนว่าจะเกิดโทษ เกิดภัย หรือผิดกฎหมาย ไม่ไปทำ นั้นหละเป็นความสุขข้อที่สี่
คนเราก็ควรต้องมามองตัวเองให้ชัด ว่ามั้ยครับ ว่าเราควรวางตำแหน่งตนเองไว้ในที่ไหน บางคนเป็นชาวบ้าน เงินทองก็ไม่หา อาชีพก็ไม่ทำ วันๆใช้แต่เงิน สร้างหนี้สารพัด กู้ชาวบ้าน รูดบัตร ยังไม่พอ เรื่องกฎหมายไม่เคยศึกษา พอเผลอทำอะไรผิดเข้าหน่อยเจอตำรวจเข้า ก็โวยวาย ละมาบอกว่า ชีวิตตัวเองนะอยู่ในกรอบศีลธรรมไปวัดไปวาบ่อย คำว่าไปวัดไปวานุ่งขาวห่มขาวนี่ไม่ได้ช่วยให้การขับรถเฉี่ยวใครตายแล้วเราไม่ต้องรับผิดนะ และไม่ได้ช่วยให้มีเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วย ตรงนี้สำคัญมาก หลายๆคนละเลย โดยเฉพาะคนรายได้น้อยที่ทำบุญอย่างบ้าคลั่ง จนไม่ได้คิดจะมาปลดหนี้ตัวเอง หรือคิดวิธีการหาเงินให้ดี ส่วนคนรวย ที่พบบ่อยก็คือ ชอบความเป็นหนี้ ไม่ก็ชินกับความเป็นหนี้จนไม่รู้สึกอะไร จนกว่าหนี้นั้นจะแทงศอกให้ชอกช้ำ หรือโดนพิษความผันผวนของเศรษฐกิจทำให้ล้มประดาไป มหาเศรษฐีไทยบางคนพูดวลีน่าตกใจมาก ท่านพูดว่า จะทุกข์ไปทำไม ไม่ใช่เงินผมสักหน่อย เงินธนาคาร ฯ ฟังดูอาจช่วยปลอบใจและอาจสร้างเสียงหัวเราะเล็กๆได้ว่า เอ้อ เราไม่เห็นต้องทุกข์กับการเป็นหนี้ ไม่ใช่เงินเรา แต่ถ้าขืนคิดแบบนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจคนอื่นที่ต่ำมากๆ ทั้งยังทำให้ประมาทรู้สึกว่ากู้เงินเป็นเรื่องไม่เสียหายอะไร ก็อย่างว่าครับ มหาเศรษฐีท่านนั้นผมไม่ขอเอ่ยนาม แต่ท่านทำการค้าด้วย ทำธนาคารด้วย ท่านก็พูดให้การกู้เงินดูไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะเป็นรายได้ของท่าน
แล้วเรื่อง อู่ฝู นี่พระพุทธเจ้าสอนไว้ตรงไหน ก็สอนไว้ตรงศีลห้าครับ กับเรื่องทาน คือ ทาน ศีล ภาวนา นั้นหละ การที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ศีลข้อหนึ่ง มีผลทำให้ อายุยืนยาว และสุขภาพแข็งแรง การให้ทานทำให้มีทรัพย์ไว้ใช้สอย ส่วนการมีลูกหลานมากนั้นท่านไม่ได้สอนว่าคือความสุข ท่านแค่สอนว่าหน้าที่ๆพ่อแม่มีต่อลูกควรทำอะไรบ้าง และสอนเรื่องความกตัญญูไว้
ส่งท้ายขอสรุปว่า จีนมีวัฒนธรรมเน้นที่การตั้งเป้า และบอกวิธีการ แต่ให้ความสำคัญที่เป้ามาก มากถึงขั้นว่า หากอวยพรให้กัน หรือตอกย้ำทางใจด้วยการประดับบ้านด้วยคำมงคลเหล่านี้ จะทำให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้นได้แน่ แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้เน้นที่ผล กลับเน้นที่เหตุและตอบว่า หากทำเหตุครบ ยังไงก็ได้ผลแบบไม่ต้องไปรอคอยแสวงหา
บางทีเราฟังพระเทศน์สอน เราต้องหัดจับความให้ได้ว่า ศาสนาพุทธสอนที่เหตุไม่ได้สอนที่ผล เช่น พระอาจารย์ผมท่านเขียนที่ข้างกุฎิ แบบว่าใครจะไปพบท่านรับรองต้องได้เห็นวลีนี้ที่เขียนไว้ข้างกำแพงแน่นอน ความว่า
พึงระลึกไว้ สักวันต้องตายแน่นอน
อันนี้ท่านไม่ได้สอนผล คือไม่ได้บอกว่า คนเราต้องตายแน่ๆ แต่ท่านสอนเหตุว่า ก็ถ้ารู้ว่าต้องตายแน่ๆ งั้นตอนยังมีชีวิตควรทำอะไรบ้างเล่า การนึกถึงความตายบ่อยๆเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านเน้นย้ำ ถ้าเราจะตาย เราจะไม่เอาเปรียบใคร ถ้าเราจะตายเราพร้อมหายโกรธ ถ้าเราจะตายเราจะไม่โลภหน้ามืดเพราะมันจะตายรอมร่อแล้ว ถ้าเราจะตายมันจะไม่ทำร้าย ว่าร้ายนินทาใคร เพราะตัวเองจะเอาตัวเองยังไม่รอด คนที่เคยร่อแร่ ใกล้ตาย หรือตายแล้วหมอที่โรงพยาบาลเอาให้กลับมาได้ คนเหล่านี้หลายๆคนเปลี่ยนไป นิสัยเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน เพราะเค้าไปเจอจริงๆจังๆว่า อ๋ออ คนเราจะตายนี่ มันคิดปล่อยวางนะ คิดเสียสละ และที่สำคัญ คิดสำนึกบาปและอยากทำความดี เพราะมันเห็นคุณค่าของ เวลา ที่ผ่านไปๆเรื่อยๆ
วันก่อนผมเดินผ่านร้านหนังสือของสนามบิน มีหนังสือญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง เขียนว่าขายดีมากและแปลเป็นภาษาหลายประเทศมาก เค้าเขียนเรื่อง ถ้าคุณตายคุณคิดว่าจะจัดการกับทรัพย์สินอย่างไร อันไหนจะเอาไปขาย อันไหนจะให้คนอื่น อันไหนจะเป็นมรดก อันไหนหวงมากจะฝังไปพร้อมกับคุณ หรือ อื่นๆ การคิดแบบนี้หนังสือเล่มนั้นยืนยันว่า จะทำให้คนบริหารจัดการทรัพย์สินตัวเองได้แบบเฉียบขาดและได้ประโยชน์สูงสุดของสิ่งๆนั้น
Kommentare