ทำมาแล้ว จริงๆ สมัยมหาลัย ผู้หญิงเอาสมุด เอาปากกา เอาดินสอแพงๆมาฝาก เพราะรู้ว่าผมชอบเครื่องเขียน ผมโยนลงถังขยะต่อหน้า น้ำตาร่วงก็เชิญ เพราะ
เราไม่ต้องการผูกหนี้บุญคุณใคร
เพราะ เราไม่ต้องการให้มาตอบแทนแบบเอาหน้าคือ ทำดีละ ก็เอาของมาให้
ผมประมาท ดูหมิ่นไปว่าไม่จริงใจ
แต่ วันนี้ ตอนนี้ ด้วยพระคุณแห่งพระธรรม สอนผมว่า จงรับไว้ด้วยเมตตาเถิด และจงยินดีที่จะรับไว้ เพื่อทำตนเป็นผืนดินให้เขาได้บ่มเพาะบุญบารมี รองรับน้ำใจให้เขาได้สร้างบารมี และมีไมตรีในการรับ เพื่อเป็นกำลังใจให้เค้าได้สัมผัสความปีติในทานกุศลที่เขามอบให้เรา ไม่ว่า สิ่งของ จะถูกหรือแพง เราจะได้ใช้หรือไม่ได้ใช้ เขาให้ ก็รับเสีย ด้วยความเต็มใจและขอบคุณ
ยิ่งโดยมารยาท และสมบัติผู้ดี ผู้มีคุณวุฒิหรือวัยวุฒิกว่าเรา มอบอะไรให้ ผู้น้อย ต้องน้อมรับด้วยความอ่อนน้อมเคารพ ถือว่าเป็นการลด อัสมิมานะ คือความถือตัวถือตน ความบอกว่าชั้นมีศักดิ์ศรีนะ ซึ่งมันละเอียด มองยาก สังเกตยากกว่า อีโก้
หากท่าน รับ ก็ต้องพิจารณาว่า รับด้วยไมตรี หรือ รับเพราะโลภะ หากรับด้วยไมตรี จิตย่อมเป็นกุศล มีความอิ่มใจ ปล่อยวางได้เป็นเครื่องบ่งบอก หากเป็นโลภะ ใจจะฟูลอย ละหวังอยากจะได้อีก มีความทุรนทุรายเบาๆในจิตเป็นเครื่องบอก
หากท่านไม่รับ ก็มีสองทาง คือ รับและสละโดยทันทีทันใด ใจไม่ติดค้างได้ ซึ่งผู้ให้อาจจะกระเทือนใจ เรียกว่าการเห็นแก่ตัวถืออุเบกขาวางเฉยบนความทุกข์ใจของผู้อื่น เป็นอุเบกขาที่ไม่ได้ผ่านกรุณาจิต ใช้ไม่ได้ !! เพราะพรหมวิหารสี่ ต้องเจริญเป็นขั้นๆจนครบ ถึงมาพูดอุเบกขา เอะอะทิ้ง เอะอะปล่อย เอะอะไม่เอา คือ โทสะ ต่อให้เราอ้างว่าเราทำด้วยอาการสำรวม พูดแบบมีมารยาท ก็ยังกระเทือนจิตอันเป็นกุศลให้เร่าร้อนภายในได้ หากจิตนั้นเคยได้รับการฝึกท่านจะสังเกตได้ และเมื่อฝึกจิตมาดีจนถึงขั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นได้พร้อมทั้งทำด้วยความที่จิตเป็นกุศล หรือเป็นอัพยากตจิต คือเฉยๆได้จริง อันนั้นก็ต้องแสดงน้ำใจอาทรณ์ผู้ให้ว่า ท่านอย่าได้สิ้นเปลืองสินทรัพย์เงินทองเลย ขอรับน้ำใจท่านไว้ด้วยใจ ทรัพย์สินสิ่งของท่านนำไปไว้ใช้สอยเถิด
อีกอันนึงคือ บอกปัดไม่รับ ไม่เอา หรือขว้างทิ้งแบบที่ผมเคยทำ นี้เป็นอกุศลกรรม(การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาอันไม่ฉลาด ไม่มีประโยชน์)สร้างความทุกข์โทมนัสให้แก่ผู้ให้ บรรดาลกิเลสหยาบช้าแก่ผู้กระทำ และอัปปิเยกิสัมปะโยโคทุกโข คือ ท่านได้ตกล่วงไปสู่ความทุกข์แห่งความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ใช้โทสะ ขาดสติ ทำร้ายตนเองและผู้อื่น
มีเรื่องเล่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย เช้าวันนึงมีโยมเตรียมขันข้าว(ภาคกลางเรียก สังฆทานอาหารสด) มาถวายท่าน ท่านก็รับและสวดมนต์ให้พร จบแล้วท่านยื่นถาดขันข้าวคืน แล้วกล่าวกับโยมว่า เอาไปหื้อหละอ่อนกิ๋นเหียเต๊อะ เขาไค้อยาก หยังบ่าหื้อเขาฯ" ใจความว่า โยมตอนเตรียมอาหารเด็กๆลูกๆหลานๆที่บ้านเห็นแล้วอยากทาน แต่โยมไม่ให้ บอกว่าจะเอาถวายพระ บัดนี้ พระรับแล้ว สมเจตนาทานกุศลที่โยมได้ทำแล้ว ก็ขอให้นำอาหารเหล่านี้ กลับไปให้ลูกๆหลานๆโยม ได้ ทานเถิด …
ครูบาเจ้าท่าน ไม่ได้ตำหนิว่า กูบ่าเอา ! กำลูนปายหน้าก็บ่ต้องเอามาแหม" เพราะหากทำเช่นนั้น กำลังใจ น้ำใจคน ที่จะสร้างทานกุศลในภายหน้า จะถูกบั่นทอนลงด้วยความคลางแคลงสงสัยว่า ต่อไป จะให้ดี ไม่ให้ดี ช่วยดี ไม่ช่วยดี ช่วยแล้ว ให้แล้ว จะโดนตำหนิไหม ผู้คนจะลังเลในการทำความดี ไม่มีจิตใจอันอาจหาญ ก่อความดี เหมือนปัจจุบันที่เราๆท่านๆมักเป็นกัน คือ เห็นขอทานก็ดี คนยากจนก็ดี เราลังเลเสมอว่า จะให้เงินเขาดีไหม จนจริง หรือแกล้งจน หลอกคน หรืออับจนหนทาง ให้ละจะสนับสนุนให้เค้ายึดอาชีพนี้กันเรื่อยๆไหม ผมถามครับ ใครบ้างอยากเป็นคนจนเป็นขอทานครับ ถ้าเขามีรายได้สักเดือนละสี่หมื่นห้าหมื่น เขาไม่มีทางมาปลอมตัวตากแดดร้อน ยืนกลางถนนหรอก เพราะมันไม่มีทางคุ้ม และถ้าเขายังทำ แปลว่า เขามีรายได้ไม่พอใช้ ที่เราเรียกว่า จน … ทีนี้ย้อนมามองจิตท่าน ยังไม่ทันได้ทำทาน ท่านก็ยึดโทสะเสียแล้วด้วยความหวาดระแวง หวาดกลัว (ภาษาบาลีเรียกตัณหา) จะให้ ก็ดี ไม่ให้ ก็ดี ความระแวงไม่สุขใจนั่นก็ได้เกิดขึ้นแล้วละติดตัวความคิดท่านไปแล้ว เกิด กรรม แล้ว และย่อมส่งผลแห่งอกุศลกรรมนั่น ตามเหตุตามปัจจัยต่อไป คนสมัยนี้ คิดแค่ ฉันไม่ได้ทำ กายทุจริต ไม่มีวจีทุจริต คือพูดภาษาชาวบ้านว่า ไม่ได้ด่าใครไม่ได้ปาดคอใครตาย อยู่เฉยๆ ก็พอแล้ว จริงๆท่านลืมไปว่า ยังมี "มโน" ที่ต้องฝึกหัดให้สุจริต ด้วยครับ
หมายความว่า ต่อให้ท่าน มีเงิน หรือไม่มีเงิน จะให้ หรือไม่ให้ก็ตาม แต่ท่านทำจิตให้เป็นเมตตา หากไม่มีเงิน หรือไม่มีพอจะให้ ท่านก็ส่งความปรารถนาดีให้เขาได้พ้นจากความทุกข์เสีย จะได้เลิกทุกข์มาเป็นขอทาน จะได้ทุกข์มากจากลืมธรรมต้องมาปลอมตัวหลอกเงินคน ขอให้พ้นทุกข์ ขอให้พบกับความสุข เอ่าก็ สัพเพ สัตตา และแปลไป … ทีนี้ถ้าท่านให้ ก็ให้แผ่เมตตาจิตเช่นกัน หรืออาจจะมีไมตรีอัชชาศัยพูดกับเขาสักนิดว่า ขอให้เป็นคนดี ทำดีเด้อ ละก็ ปลด สละ ความติดใจในเงินทองนั้นลงเสีย สละด้วยกำลังแห่งเมตตาจิตที่เราอยากให้เขามีความสุข กรุณาจิตที่เราได้ลงมือช่วยแล้วให้เขาพ้นทุกข์ มุทิตาจิตกับเขาที่เขาได้มีทรัพย์สินไว้ยังชีพใช้สอย แล้วอุเบกขาว่า เราช่วยครั้งนี้หากเขายังไม่พ้นจากความจน ก็เป็นผลกรรมของแต่ละคนไป แต่เราก็จะช่วยเรื่อยๆหากมีกำลังและโอกาส อุเบกขาไม่ได้สอนให้คนเอะอะวางเฉย เฉยเมย ทอดอารมณ์ หรือทอดทิ้งใครครับ
แต่ถ้าขืนท่านไม่ทำแล้วยังไปหวาดระแวงนี่เรียกว่า เอาใจไปมัดกับเงินทอง ทั้งๆที่มันก็ไม่ได้ร่วงออกจากกระเป๋า ตลกไหม เงินไม่ได้ไปไหน แต่เราเอาใจเราเข้าไปมัด มัด มัด พัน พัน พัน เอากาวตราช้างทามัน เปะติดกับใจเรา แปะติดกับความหวง ลองหันมาสังเกตด้วยการทำจิตให้นิ่งจะพบว่า ถ้าไม่เสียดายเงิน ท่านไม่ระแวงที่จะให้ดอก นี่เพราะท่านอ้างว่า เงินทุกบาทฉันหามาด้วยแรงกายแรงปัญญาและเวลาอันมีค่า ซึ่งถ้าแปลให้ละเอียดหมายถึง ท่านมีนันทิราคะในเงินและการใช้สอยเงินทอง คือไปติดใจเพลิดเพลิน ยึดติดกับค่าของเงิน โลภ นั้นหละว่าง่ายๆ แต่เป็นโลภอย่างเบา แบบไม่ได้มากจนไปก่อโจรกรรมจี้ปล้นใครเขา
ต่อให้ท่านไม่ให้ หรือท่านให้แล้ว เงินลงกระป๋องที่วางบนพื้นของขอทานแล้ว ก็ยังไม่ถือว่าได้สละ เพราะจิตท่านไปพันธนาการกับ ความหวงในเงิน ของตนเองอยู่ดี โดยอ้างเอาความสุจริตหรือทุจริตของพฤติกรรมคนขอทานมาเป็นเหตุลบล้างไม่ให้ตนเองดูเป็นคนผิด แต่ถ้าลองปรับวิธีการทำด้วยเมตตาจิต ต่อให้เงินได้ให้ไป หรือไม่ได้ให้ไป ใจจะเบาสบาย และไม่เกาะเกี่ยวกับค่าของเงินทอง เรียกว่า ปล่อยวางได้จริง และถ้าทำได้ ต่อให้ท่านยื่นให้แล้ว ขอทานหรือคนยากจนเขาบอกว่า ไม่เอา เขาไม่รับ กำลังแห่งเมตตาจิตที่ท่านได้เจริญดีแล้ว เตรียมใจแล้วก่อนจะให้ จะยังผลให้ท่านไม่มีโทสะที่จะไปโกรธเขาว่า เธอมันหยิ่ง จนไม่เจียม ไม่มีกินแต่ยังไม่ยอมเอา ฉันจะช่วย เสียน้ำใจ และต่างๆนานา เพราะท่านจะใจเบา ใจสบาย และเข้าใจเขาได้ว่า เขาไม่ต้องการให้เราเห็นเขาเป็นคนยากจนที่ใช้ความจนเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพเอารัดเอาเปรียบใคร เราจะมองคนอื่นด้วยมุมมองที่ดีขึ้น หรือที่ฝรั่งเรียกว่า การมองโลกในแง่บวก พอทุกอย่างจบลง เราเดินจากไป เขาใช้ชีวิตเขาต่อไป เราจะจากไปด้วยความมีความสุข และเราจะมีใจสงบ หรือ มีใจปิติ และพร้อมจะช่วยเหลือทุกครั้งหากพบเขาอีก ไม่ใช่ด้วยผลแห่งกุศลกรรมของจิตของความเสียสละที่ฝึกฝนอย่างเดียว แต่ด้วย พลังใจ ที่เราได้ฝึกฝนเป็นคนมีเมตตาจิต อย่างไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ในสัตว์โลกทั้งหมด ทั้งนี้ ท่านจะภาคภูมิใจในการเป็นผู้รับ หรือผู้ให้ ก็ต่อเมื่อ ท่านเป็นผู้มีศีล และมีสัมมาทิษฐิ เท่านั้น ความภาคภูมิใจนี้ให้ผลเป็นความอิ่มใจ ตื้นตันใจ ให้ผลละเอียดเป็นความ ปีติ ความสุข ความสงบอย่างมีความเกษมสุขภายในใจภายใน ซึ่งที่กล่าวมา หากเกิดขึ้น ก็นี้หละ คือ การภาวนา คือ เมตตาภาวนา ที่ไม่ใช่การนั่งหลับตาแล้วเพ่งว่า จง เมตตา จง เมตตา เป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตจริง นอกวัด นอกอาราม นอกเครื่องแบบนุ่งขาวห่มขาว
ขอความสุขความเจริญจงบังเกิดมีแก่ทุกท่าน
ซินแสหลัว
04/10/2017
ความคิดเห็น