เมื่อการแพทย์แผนไทยเริ่มเสื่อมถอยลงในราวสมัยรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งเรายุบโรงเรียนแพทย์แผนไทยหันให้คนไปใช้แพทย์แผนตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบในราวรัชกาลที่ 7 หัวสมองการศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพของไทยเราก็เริ่มเบนหนีออกจากการแพทย์แผนตะวันออก หันไปฝักใฝ่การแพทย์แผนตะวันตกแทน คิดดูว่าสมัยก่อนนี่ต้องมีการเอาเงินจ้างให้คนป่วยไปรักษากับหมอฝรั่งนะครับ เพราะความไม่คุ้นชินของคนไทยเกี่ยวกับการรักษาตามแพทย์แผนฝรั่งที่เรียกกันเป็นชื่อทางการว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน แบบที่เราคุ้นเคยกันนั้นเอง ทั้งๆที่ในรั้วในวังตั้งแต่สมัยสุโขทัยเราใช้สมุนไพรและพืชพรรณที่มีอยู่ในภูมิภาคในการรักษาดูแลสุขภาพมาตลอด จนสมัยอยุธยาที่เห็นได้ชัดว่ามีหมอหลวงจากหลายสาขา ทั้งจากฝ่ายอินเดีย และฝ่ายจีนมาร่วมด้วย ตลอดจนหมอฝรั่งก็เริ่มเข้ามาในสมัยอยุธยาตอนปลาย เหตุที่เราไปรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมามากทำให้การกินอยู่ของเราเปลี่ยนไป และเริ่มต้องไปเสาะแสวงหาสิ่งที่ชาวตะวันตกหาง่าย แต่ชาวเราหายากเอามาทาน สังเกตได้ง่ายๆจาก อาหารห้าหมู่ ที่เราสอนกันเป็นหลักพื้นฐานในโรงเรียน เชื่อว่าแทบทุกคนต้องเคยท่องเคยจำว่า จะมีสุขภาพที่ดีได้ต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อันได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน ไขมัน เกลือแร่ ไม่ต้องอธิบายมากดูที่คำศัพท์เลย เป็นภาษาไทยเสียที่ไหนกัน ในภาพโปสเตอร์ที่เอามาให้นักเรียนเรียนกัน คาร์โบไฮเดรตจะเป็นภาพขนมปังกับข้าวและธัญพืช โปรตีนเป็นภาพใข่และนมหนึ่งแก้วพร้อมเนื้อสัตว์นานาชนิด วิตามินคือพวกผักสีๆ และผลไม้ทั้งหลาย ไขมันจะเป็นภาพน้ำมันและเนย และเกลือแร่แน่นอนเป็นเกลือนั้นหละ ทีนี้มาดูสิ แต่ไหนแต่ไหน บ้านเรามีนม มีเนย ไหมครับ มีขนมปังไหม เราทานกันไหม ไม่เลย แล้วพอเราไปเน้นเรื่องให้คนทานสิ่งเหล่านี้แล้ว พืชพันธุ์ที่เราเคยทานกันแต่ดั้งแต่เดิมปู่ย่าตายายเริ่มไม่มีคนปลูก เพราะไม่มีคนกินคนใช้ สมัยนี้ผักพื้นบ้านหายไปจากตลาดเยอะแล้ว กลายเป็นผักและอาหารที่นายทุนกำหนดให้เรากินแทน เป็นที่น่าประหลาดใจมากว่าพอผมไปสืบถามต้นตอว่าใครเป็นคนคิดเรื่อง สุขภาพดีต้องทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ปรากฏว่าหาต้นตอไม่ค่อยได้แน่ชัด เราลองย้อนกลับมาทางศาสตร์การแพทย์ตะวันออกบ้าง มีตำราเล่มหนึ่งเป็นแม่บททางการแพทย์จีน ที่หมอจีนทุกคนต้องท่องต้องเรียน ชื่อ หวงตี้เน่ยจิง อายุตกทอดกันมาหลายพันปี แต่ไม่ได้แต่งในสมัยหวงตี้หรอก เพียงแต่ตั้งชื่อแสดงถึงความเป็นแม่บทแม่แบบที่มีมานานเท่านั้น ได้กล่าวสอดล้องกับทฤษฎียินหยางห้าธาตุ อันเป็นปรัชญามูลฐานของชนชาวจีนซึ่งใช้กันมาแต่อดีตจนปัจุบัน ว่า五谷为养,五果为助,五畜为益,五菜为充,气味合而服之,以补精益气 แปลความแบบรวบรัดว่า ธัญพืชห้าอย่างเพื่อการเติบโตหล่อเลี้ยงร่างกาย ผลไม้ห้าอย่างเพื่อการช่วยเหลือ เนื้อสัตว์ห้าอย่างเพื่อการเสริมบำรุง ผักห้าชนิดเพื่อความสมบูรณ์พร้อม ชี่และรสชาติสอดผสานสมดุล มุ่งหมายนั้นเพื่อเสริมความแข็งแรงสารจำเป็นของร่างกายและบำรุงเลี้ยงพลังชี่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญเป็นพื้นฐานการบำรุงร่างกายของคนตะวันออกแบบเราๆท่านๆ ก็คือ ธัญพืช หรือก็คือ ข้าวที่เรารับประทานกันทุกวันนี่หละครับ แต่ละอย่างไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ เนื้อ ถูกศึกษาค้นคว้ามายาวนานหลายพันปีแล้วจำแนกว่าแต่ละประเภทส่งผลต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายตามหลักการแพทย์แผนจีนทั้ง 5 อวัยวะตัน และ 6 อวัยวะกลวง อันได้แก่ หัวใจ-ลำไส้เล็ก (ธาตุไฟ) ตับ ม้าม ปอด ไต พิสูจน์ง่ายๆ สมัยอากงอาม่า กินข้าวสวย ข้าวต้มกันไม่รู้กี่ชาม กินผัก กินเนื้อ กินถั่วเป็นกับข้าว แล้วก็มีผลไม้นิดหน่อย ไม่ได้กินแบบที่เรากินๆกันเหมือนทุกวันนี้ กินเนื้อกันเป็นชิ้นใหญ่ๆ เป็นน่องๆ ร่างกายก็ร้อนเกินไป บางคนก็ไม่กินแป้ง ไม่กินเนื้อกินมัน กินแต่ผักเป็นอาหาร ก็ทำให้ร่างกายเย็นเกินไป ทำให้เกิดพวกโรคออฟฟิตซินโดรมทั้งหลาย ตลอดจนพวกระบบการย่อยอาหารที่แย่ลง เกิดท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารเป็นพิษ กรดไหลย้อน ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า อาหารว่างของจีน หรือขนม มักจะต้องมีถั่ว มีผลไม้เป็นส่วนประกอบ อย่างเช่น ถั่วลิสง พุทราจีน พวกนี้ใส่ลงไปก็เพื่อให้ครบตามมื้ออาหารแบบที่ตำราว่าไว้ว่า มื้อหนึ่งๆต้องมี ข้าว ผัก ผลไม้ ถั่ว(งา) เนื้อ อันนี้คือ ห้าหมู่แบบตะวันออก แบบคนจีน ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักการของพุทธศาสนาอย่างมาก ถ้าเราลองมองดูวิถีชีวิตพระ ที่จะไม่ฉันอาหารหลังเที่ยง จริงๆพุทธเจ้าบอกให้พระฉันได้แค่มื้อเดียวเสียด้วยซ้ำ เว้นแต่ว่าหากป่วยถึงไปฉันเพลได้ และถ้าป่วยหนักถึงฉันได้หลายมื้อ ถ้าสุขภาพปรกติร่างกายแข็งแรงดี ท่านกำหนดให้ฉันได้แค่มื้อเดียวด้วยซ้ำ 《饮膳正要》提出:日食以三餐为宜,早餐好,中餐饱,晚餐少。ตำราการกินอยู่เก่าแก่เขียนว่า วันหนึ่งโดยปรกติควรทานสามมื้อ มื้อเช้ากินของดีๆ มื้อเที่ยงกินให้อิ่ม มื้อเย็นต้องกินให้น้อยที่สุด และก็เตือนให้มีสติในการบริโภคแบบพอประมาณ ไม่กินมากไป ไม่กินน้อยไป กินแบบพอดีๆ 内经》说“饮食自倍,肠胃乃伤” มิเช่นนั้นกลับจะเป็นผลเสียทำลายลำไส้และกระเพาะอาหาร เพราะฉะนั้นจริงๆตำราไม่ได้บอกว่าให้เราทานได้เฉพาะ ธัญพืชห้าอย่าง หรือ ผักห้าอย่าง แบบที่เขากำหนดเอาไว้ หากแต่เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นว่า ธัญพืช หรือ ผัก หรือ เนื้อที่สอดคล้องกับห้าธาตุนั้นเป็นรูปแบบไหนอย่างไร และก็ควรทานแบบสมดุลทั้งห้าธาตุ เพราะว่า ในเนื้อ 5 ชนิด ตามหลักห้าธาตุนั้น มีเนื้อสุนัขอยู่ในนั้นด้วย จะทานลงไหมหละ ซึ่งถ้าคนไม่มีความรู้ด้านอื่นของปรัชญาจีนก็จะไปเหมารวมว่า เขาให้ทานเนื้อสุนัขด้วย ความเป็นจริงก็คือ บริบทเรื่องห้าธาตุเป็นการแต่งขึ้นเรียบเรียงขึ้นจากวิชาหลายวิชา ไม่จำเป็นว่า เนื้อสัตว์ 5 ชนิดจะหมายถึงธาตุนั้นๆตามหลักเภสัชจีน หรืออาหารจีนเสมอไป เช่น เป็ด ซึ่งไม่ได้จัดอยู่ในเนื้อสัตว์ 5 ชนิด แต่เป็ดเป็นเนื้อที่ให้ความเย็น เป็นจำพวกธาตุน้ำ จึงไม่ควรทานในฤดูหนาว และในการปรุงก็ต้องนำไป ย่าง หรือเผา หรือให้ความร้อนเยอะๆ และก็แบบที่เราเห็นข้าวหน้าเป็ดบ้านเราก็จะมีขิงเป็นเครื่องเคียง เพื่อถ่วงดุลความเป็นธาตุน้ำ ธาตุเย็นของเป็ด เช่นเดียวกันกับไก่ ที่หากดูในเรื่องห้าธาตุในสัตว์ 5 ชนิดแล้ว จะไปตกธาตุทอง หรือน้ำ แต่ในความเป็นจริงด้านตำราเภสัชจีน ไก่ถือเป็นเนื้อที่มีฤทธิ์ออกทางธาตุไฟ ให้ความอบอุ่นให้ความร้อน ตำราจีนเรื่องการปรุงอาหารเลยให้เอาไปต้ม หรือนึ่ง เพื่อใช้น้ำในการปรับที่ร้อนมากเกินไปให้เย็นลงมา เพราะฉะนั้น五畜为益ตามตำราหวงตี้เน่ยจิง จึงเขียนเพื่อจะบอกเราว่า ทานเนื้อสัตว์อะไรก็ได้ ไม่ใช่ว่าเฉพาะห้าอย่างนี้ แต่ห้าอย่างที่จะตำราระบุมาแบบนั้นเพราะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านคนจีน อันได้แก่ วัว สุนัข แพะ หมู ไก่ เพื่อยกตัวอย่างเล็กน้อยให้นำเอาไปเป็นแบบในการคิดต่อยอด เพราะคำว่า ห้าธาตุ หรือ ยินหยาง กินความได้ในทุกสรรพสิ่ง ไม่จำกัดเฉพาะแต่อันใดอันหนึ่ง มีความผันแปรเยอะมาก เช่น พืชที่ให้ดอกจัดเป็นธาตุไฟ แต่ดอกบัวถือเป็นธาตุน้ำ ดอกคำฝอยถือเป็นธาตุไฟ แบบนี้เป็นต้น วิธีแบ่งแยกธาตุแบบมูลฐานที่สุดในวิชาเภสัชจีนก็ใช้โดยการ ชิมรส ใช้รสชาติในการแบ่งแยกว่า อาหารหรือยาแต่ละอย่างเป็นธาตุอะไร แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดอีกหละเพราะมีข้อยกเว้นอยู่ คร่าวๆเรื่องรสชาติก็ได้แก่ เปรี้ยว ขม หวาน เผ็ด เค็ม สัมพันธ์กับอวัยวะภายใน คือ
รสเปรี้ยว (ธาตุไม้) บำรุงตับและถุงน้ำดี
รสขม (ธาตุไฟ) บำรุงหัวใจและลำไส้เล็ก
รสหวาน (ธาตุดิน) บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร
รสเผ็ด (ธาตุทอง) บำรุงปอดและลำไส้ใหญ่
รสเค็ม (ธาตุน้ำ) บำรุงไตและกระเพาะปัสสาวะ
การกินรสต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงความพอดี หากไตและกระเพาะปัสสาวะพร่องให้กินเค็ม แต่ถ้ามากไปจะทำให้ไตและกระเพาะปัสสาวะเกิดปัญหาได้ ดังนั้นรสทั้งห้า ก็มีส่วนต่อการรักษาสมดุลของธรรมชาติภายในร่างกายอย่างสำคัญ หลักการเรื่องรสชาตินี้ก็เป็นหลักการที่ใช้ในทางการแพทย์แผนไทยเช่นเดียวกัน มีเป็นกลอนหลายแบบในการท่อง เช่นว่า ฝาดสมาน หวานซึมซาบ เมาเบื่อแก้พิษ โลหิตชอบขม เผ็ดร้อนแก้ลม มันแก้เส้นเอ็น รสเย็นบำรุงหัวใจ เค็มซึมซาบ เปรี้ยวปราบเสมหะ โดยความเห็นส่วนตัวจึงเห็นว่าการจำแนกอาหารตามธาตุ ใช้หลักการเรื่องรสชาติน่าจะเป็นมาตรฐานที่สุด สรุปก็คือให้เลือกทานตามฤดูกาล ตามสภาพร่างกาย ทานให้ครบประเภทชนิด และทานให้หลากหลายรส เพราะตำราจีนบอกว่า ฟ้าเป็นตัวให้ชี่ ดินเป็นตัวให้รสชาติ อาหารแต่ละชนิดก็กักเก็บพลังชี่ของแต่ละฤดูกาลเอาไว้ บางทีบางอย่างเราจึงสามารถหาพลังชี่ของแต่ละธาตุในธาตุทั้งห้าจากการดูการเจริญเติบโตและเก็บเกี่ยวของพืชแต่ละชนิดฤดูกาล อาทิเช่น ลูกพลับ แน่นอนว่าเป็นของที่ต้องเก็บเกี่ยวตอนฤดูใบไม้ร่วงก็ได้พลังธาตุทอง เกาลัดในหน้าหนาวก็ได้พลังของธาตุน้ำ หรือดอกเก็กฮวยบานตลอดได้พลังของทั้งสี่ฤดู บรรจุได้หลายพลังธาตุแบบนี้เป็นต้น ส่วนประเด็นดินเป็นตัวให้รสชาติก็แบบที่อธิบายเอาไว้ตอนต้น นี่จริงๆกะจะแค่เขียนเพื่ออธิบายความหมายเสื้อที่จะทำเฉยๆนะ เพราะเสื้อตรุษจีนนี่คุณยุเห็นสวยก็เลยบอกอยากขอให้ทำเสื้อ ทำออกมาเป็นเสื้อ อู่กู่เฟิงเติง ความหมายคือ ธัญพืชห้าชนิดที่งอกงามไพบูลย์ เรื่องธัญพืชนี่ในแต่รัชสมัยของจีนก็จำแนกออกมาไม่เหมือนกัน แบบคลาสสิคที่สุดบอกว่า ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาเล่ย์ ถั่ว ข้าวจ้าว บางทีก็บอกว่า ไม่ใช่ข้าวฟ่างแต่เป็นงา หรือไม่ก็เป็นลูกเดือยก็มี แต่เอาเป็นสรุปว่า ธัญพืชทั้งห้าตามตำราแพทย์จีนถือเป็นอาหารสำคัญในการหล่อเลี้ยงร่างกายให้เติบโตชนิดที่ขาดไม่ได้ อู่กู่เฟิงเติง ก็หมายถึงการเพาะปลูกธัญพืชเหล่านี้แล้วเก็บเกี่ยวได้ผลดีงามงอกเงยอย่างเกินคาด แบบว่าเฟื่องฟูมาก เจริญมาก ผมเรียนถามผู้รู้ทางจีนท่านก็ว่ามีความหมายที่ดี เพราะตรุษจีน ที่มีชื่อจีนว่า ชุนเจี๋ย แปลว่าเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งใน 24 สารทจีนประจำแต่ละเดือน เดือนละ สองหน ก็มีลี่ชุน อยู่ในเดือนนี้ อันมีความหมายว่า การเริ่มผลิออกแต่หน่อ ผลิใบแบบนี้หละ พูดง่ายๆคือเป็นเทศกาลเริ่มต้นการเพาะปลูก ก็เลยเหมาะกับความหมายที่จะมีคำมงคลว่า อู่กู่เฟิงเติง ในวันตรุษจีน คือ การเพาะปลูก หรือการลงทุน ทั้งในการทำงาน และการค้า ชีวิตในหนนี้ ปีนี้ ก็จะได้มีงอกงามไพบูลย์ ซึ่งแน่นอนตามสไตล์ซินแสหลัวไม่ทำอะไรที่มีความหมายเพียงด้านเดียว หรือเป็นการอวยชัยให้พรแบบลมๆแล้งๆแน่ เพราะมันขัดกับหลักพุทธศาสนาว่า การสวมเสื้อ สีเสื้อ คำอวยพร จะทำให้ชีวิตเจริญโดยที่ไม่ทำกุศลกรรมอันใดเลยก็หาไม่ เสื้อนี้จึ่งมุ่งหมายเตือนใจท่านในหลายเรื่อง ได้แก่ 1. อู่กู่เฟิงเติง สอนไปแล้วว่า มีห้าธาตุ แฝงความหมายคือ แต่ละธาตุจะต้องรักษาสมดุลกันและกัน คือกรุณาใช้ชีวิตอย่างมีความสมดุล ไม่สุดโต่งในสิ่งที่ชอบมากเกินไป กินในสิ่งที่ชอบมากไป เอาแบบพอดีๆ ส่วนใหญ่คนเราซวยเพราะของที่เราชอบ เหมือนที่ผมดูดวง ส่วนใหญ่ก็ฝืนสันดานที่ชอบทำของแต่ละคนนั้นหละ เช่น คนรวยดีมีเงินชอบซื้อบ้านซื้อที่ หลายดวงผมก็ต้องบอกห้ามซื้อ หรือไม่คนที่จะเป็นโรคทางเลือดก็ชอบทานของมันของหวานผมก็ต้องบอกทานให้น้อยๆหน่อย และที่สำคัญสุดคือพวกชอบนอนดึก อันนี้ต้องสั่งเป็นการถ้วนหน้าว่าให้นอนก่อนสี่ทุ่ม เป็นต้น 2.อู่กู่เฟิงเติง สอนว่า ให้รู้จักการดูแลรักษาสุขภาพเป็นพื้นฐาน จิตใจที่ดี ทำให้เกิดดวงดีได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องบำรุงกาย กายที่ภาษาบาลีจริงๆแปลว่า ก้อนสกปรก ที่เรามีหน้าที่หาอาหารให้กายนี้กิน มีหน้าที่ต้องล้างทำความสะอาด แปรงฟัน แคะขี้หูขี้ตา มีหน้าที่บำรุงตามอัตภาพ แต่ไม่ใช่เพื่อประดับให้ร่างกายนี้ สวยงามสะโอดสะอง เอาให้พอไม่เป็นภาระแก่การทำความดี ไม่เป็นภาระแก่จิตใจ ไม่ให้ป่วยจนทำงานไม่ได้ ไม่ให้ป่วยจนใจเศร้าหมอง ทีนี้ใครที่ชอบสวดมนต์หรือไปวัดคงร้อง อ้อ ละนะ ว่า เวลาท่องก่อนกินอาหารว่า ไม่ให้เป็นไปเพื่อประดับ ไม่ให้เป็นไปเพื่อตกแต่ง แต่ให้เป็นไปเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้ มันแปลความว่าอะไร
3.อู่กู่เฟิงเติง จะทำอะไรให้รู้จักเวลา ดังภาษิตว่า โส่วสือไต้มิ่ง หมายถึงว่า จงตระเตรียมการให้พร้อมและดูเวลาในการทำสิ่งนั้นๆ เพื่อจะไปให้ถึงจุดหมาย เมื่อควรทำจงลงมือทำ เมื่อยังไม่เอื้ออำนวยให้ทำก็อย่าบุ่มบ่ามทำให้ตระเตรียมการให้พร้อม เมื่อให้พักก็จงพัก เพราะฉะนั้น ต้องรู้จักทั้งเวลาทำงาน เวลาพักผ่อน คือแบ่งเวลาให้เป็น เหมือนการเก็บเกี่ยวที่ถ้ายังไม่ถึงเวลา ไปเก็บเกี่ยวมาเลยก็จะไม่ได้ผลที่ดีเจริญงอกงาม ถึงเวลาปลูกต้องปลูก ไม่ใช่รีรอเวลาให้ผ่านไป ปล่อยโอกาสให้หลุดมือ แน่นอนว่า ทุกฤกษ์ของการทำความดี คือเป็นฤกษ์อันมงคลเพราะการทำดีย่อมให้ผลดีแน่ แต่การดูตาม้าตาเรือดูเวลาเสียบ้าง จะทำให้ได้ผลประกอบการที่ดีเยี่ยมกว่า ไม่ใช่ให้รอดูหรือเฝ้าดูอย่างเดียว แต่ในระหว่างที่รอโอกาสเราก็ไปหาสิ่งที่สร้างสรรค์หรือตระเตรียมงานทำเอาไว้ พอๆกับเวลาที่รอแกงจืดเดือด เราก็หั่นผักเพื่อจะผัดผักไปพลางก็ได้ไม่เสียหาย หลายคนที่มาเจอผมผมต้องคอยบอกว่า อย่าปักใจที่จะจ้องเอาแต่เรื่องเดียว ลองเหลียวมองตามรายทางชีวิตว่ามีอะไรสามารถเก็บเกี่ยวเป็นประโยชน์ได้จงทำ ขอแค่มันจะไม่ทำให้เบนจากเป้าหมาย หรือเสียเวลาตามที่ตั้งใจไว้ก็ควรทำ แบบที่ผมชอบยกตัวอย่างว่า ไม่ใช่ว่าทำอะไรในช่วงใดๆก็จะได้ผลเหมือนกันหมด ตากผ้าตอนพายุลง รองน้ำฝนในหน้าแล้งแดดเปรี้ยงๆ ก็คงไม่ได้ผลประกอบการที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรอก สรุปแล้ว เอาไว้ใส่เตือนใจ สามเรื่องว่า ความไพบูลย์งอกงามต่างๆในชีวิตนั้น จะเกิดขึ้นได้ งอกขึ้นได้ จากการรู้จักจังหวะในการกระทำสิ่งนั้นๆ การรู้จักองค์ประกอบสำคัญในชีวิตและรักษาสมดุล อย่าเมางานจนลืมบ้าน และอย่าเอาแต่ซุกหัวอยู่ในบ้านจนไม่ยอมทำงาน อย่าหลงระเริงกับความรักความใคร่จนไม่ใส่ใจคนที่เขารักคุณ และที่สำคัญที่สุดที่หลายคนมองข้ามคือ การหัดดูแลสุขภาพของตนเอง ด้วยการเลือกกิน เลือกอยู่ อย่ามาอ้างว่า กินอะไรก็ได้ง่ายๆ เพราะเป็นคนสมถะ เป็นคนอยู่ง่าย ทานง่าย เพราะนั่นมันแสดงถึงความมักง่ายในการใช้ชีวิต มีเงินเป็นร้อยล้านก็ซื้อร่างกายที่แข็งแรงมาไม่ได้ แต่คนที่มีร่างกายแข็งแรง อาจจะหาเงินเป็นร้อยเป็นล้านได้ เรื่องนี้พวกคนรวยๆรู้กันดี เพราะป่วยกันถ้วนหน้าทั้งนั้น สุดท้ายเมื่อความป่วยมาเยือน นอกจากจะดูแลรักษาให้เต็มที่เต็มกำลังก็ต้องรู้จักพิจารณาความเกิดดับไปว่า เดียวมันก็ดับ เดียวมันก็เกิด คนเรามีความป่วยไข้เป็นธรรมดา กายนี้เป็นรังของโรค พุทธเจ้าสอนแบบนั้น ไม่มีใครปวดขาตลอดทั้งวี่ทั้งวันแบบไม่หายหรอก มันก็ปวดขึ้นมา ปวดมาก ทุเลาลง หายไปพักหนึ่งก็ปวดใหม่ แบบนี้คือให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง มันเกิดดับ จะยึดให้มันปวด หรือให้มันหายตามใจชอบไม่ได้เลย บางทีทายาก็หาย บางทีทายาเดิม หาหมอคนเดิมก็ไม่หาย มันก็เป็นไปตามสภาพของมันอย่างนั้นๆหละ ตรุษจีนปีนี้พยายามเน้นจะพูดเรื่องสุขภาพมากหน่อย เพราะเป็นปีไม้หยิน มีมะแมซึ่งเป็นดินร้อนมาประกอบ แปลว่า คนทั้งหลายจะพากันทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำจนลืมดูแลตัวเองนั้นหละว่าง่ายๆ ผลประกอบการดีหนะ ได้แน่ๆถ้าขยัน แต่ก็ต้องหัดฉลาดที่จะพักผ่อนดูแลตัวเอง เพื่อตอนเสวยผลงานหนะ จะได้มีร่างกายแข็งแรงไปเสวย
Comments