ธรรมดาช่วงปีใหม่ ผมมักจะหาคำอวยพรดีๆ แต่งเป็นกลอนหรือภาพบ้างมาแบ่งปันให้กัลยาณมิตรที่นี่ ปีนี้ ผมหยุดทุกอย่างไป 3 วัน คือ วันที่ 30 31 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2557 เพื่อไปเข้าวัดปฏิบัติธรรม ณ สถานปฏิบัติธรรมที่ผมศรัทธา ชื่อ นิโรธาราม เป็น อารามของภิกษุณี ครับ หากจะเล่าว่าผมมารู้จักที่นี่ได้อย่างไรคงยาวมากไป เลยขอเล่าเพียงแค่ว่า สามวันนี้ เกิดอะไรขึ้นกับผม ซึ่งอาจจะเป็นแรงจูงใจให้ท่านอยากไป นิโรธาราม ได้ไปฟังพระสัทธรรมของพระตถาคตจากท่านพระอาจารย์ ภิกษุณีนันทญาณี (รุ้งเดือน)
หากคำว่า สาวกของพระพุทธเจ้าหมายถึง ผู้ที่เผยแพร่พระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าและปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว ภิกษุณีท่านนี้คือ ท่านแรกที่ทำให้ผมได้เข้าใจธรรมะที่ข้องอยู่ในใจหลายเรื่อง โดยไม่ต้องพูด กล่าวคือ เคยได้รับเมตตาท่านสอนธรรมะอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อหลายเดือนที่แล้ว จนต้องตะลึงว่า ท่านสามารถเอาหัวข้อธรรมะที่เราไม่เคยเข้าใจมันเลยมาตีแผ่ให้สามารถเข้าใจได้ดีขึ้น ง่ายขึ้นมากๆ เช่น ไตรลักษณ์ เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านก็ให้ท่องนะครับ ท่านบอกว่า มันต้องท่องจำให้ได้ในใจ เวลามันเกิดเรื่อง เวลาเราไปเจอ จะได้นึกได้ ใช้เป็น เห็นจริงตามธรรม หลายคนมานั่งสมาธิได้เป็นวันๆ แต่พอออกจากสมาธิกลับไปใช้ชีวิตกลับรู้สึกเป็นทุกข์และหาคำตอบไม่ได้หลายเรื่อง จนดำเนินชีวิตอย่างผิดๆ รู้สึกว่าตนเองนั้นไม่ก้าวหน้าในธรรมะเลยก็เพราะแบบนี้ เพราะว่าไม่ได้ศึกษาธรรมะจริงๆ เอาแต่นั่งสมาธิสงบจิตอย่างเดียว ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะคนจำนวนหลายสิบหลายร้อยคนที่เข้ามาหาผมนั้น แต่ละคนชอบไปนุ่งขาวห่มขาวที่วัดทั้งสิ้น หากแต่ว่าจิตก็ยังมีความทุกข์สารพัดรุมเร้าไม่อาจแก้ปัญหาได้ ท่านสอนผมเรื่องยากให้ง่ายว่า เอ้าท่องนะ “อนิจจังไม่เที่ยง” ห้ามนึกในใจ พูดตามออกมาเสียงดังๆ เอาใหม่ “อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นอยู่อย่างเดิมไม่ได้ อนัตตาไม่เป็นบุคคล ไม่เป็นฉัน ไม่เป็นเธอ ไม่เป็นใครทั้งสิ้น” และท่านก็อธิบายความหมายให้ฟัง
ทุกครั้งที่กราบพระ กราบหนึ่ง พออัญชลี วันทา อภิวาทลงไปอย่าเพิ่งเงยหน้าขึ้นจะต้องภาวนาว่า กราบระลึกคุณอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า …. พระธรรม ….หมู่คณะสาวกของพระพุทธเจ้า(พระสงฆ์) แบบนี้ เมื่อเราจะกราบท่านก่อนฟังธรรมท่านก็เตือนสติให้เราไม่ยึดในตัวท่านตลอดจนภิกษุณีท่านอื่นๆ เพราะประกอบจาก ก้อนดิน น้ำ ไฟ ลม คือ กาย กับ จิต ไม่ให้ไปยึดถือที่ตัวตน ตัวบุคคล ท่านให้กล่าวพร้อมกับไหว้ว่า “เคารพศีล เคารพธรรม ที่ท่านบำเพ็ญมา” คือ ที่กราบนี่เราเคารพในสิ่งที่ท่านทำความดีมา ศีลธรรม เราไม่ได้ไปเคารพเพราะเป็นตัวท่าน เป้นตัวศักดิ์สิทธิ์ จะได้ทำความเห็นถูกให้แจ้งครับ
เรื่องมีอยู่ว่าพอผมจะต้องเข้า ปฏิบัติธรรม สามวันนี้ ผมก็จดปัญหาเกี่ยวกับธรรมะที่สงสัย เอาไว้ไปถามท่าน ถามว่าปัญหานั้นมันมาจากไหน ก็มาจากคุณๆทั้งหลายที่เข้ามาหาผมนี่หละครับ ผมอยากมีความรู้เพิ่มมากขึ้นเลยไปถามท่าน และคิดว่าท่านคงจะตอบได้ เพราะจากการได้อ่านหนังสือ “เทคนิคเพิ่มสุข” ของท่านเพียงเล่มเดียวเท่านั้น เรียกว่า ครบเครื่องจากเหล่าหนังสือธรรมะที่เคยอ่านมาทั้งหมดเลยทีเดียว เพราะมันเป็นการอธิบายธรรมะพื้นฐานต่างๆให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน เช่น เรื่องการให้ทาน การรักษาศีล จะอธิบายหัวข้อธรรมต่างๆเอาไว้โดยทั้งหมด แนวทางไม่ใช่การสอนให้เราทำ เราฝึกอย่างไร แต่เป็นเหมือนพจนานุกรมที่อธิบายไว้อย่างง่ายๆ และเป็นเหมือนสูตรคูณที่มี คีย์เวิร์ดให้มาท่อง ไม่เหมือนหนังสือธรรมะโดยทั่วไปที่อธิบายเป็นเรื่องๆ เป็นหัวข้อๆ หนังสือแบบนี้ช่วยเราให้เราได้คำตอบในหัวข้อนั้นๆได้ก็จริง เช่น เรื่องความโกรธ แต่ว่าเมื่อชีวิตเรามันต้องเจอหลายอารมณ์หลายเหตุการณ์เข้ามากระทบ เลิกโกรธยากมากครับเอาเข้าจริงแล้ว คือ โกรธแบบตะโกนด่าแช่งเราอ่านหนังสือแบบนั้นเราเลิกได้ แต่โกรธละเอียดๆ เช่น อารมณ์เซ็งๆ นอยๆ เบื่อๆ อารมณ์ไม่แช่มชื่นในใจลึกๆ เราไม่รู้ด้วยซ้ำ ใช่ไหมว่า มันก็ถือเป็น โทสะ เหมือนกันกับความโลภครับ เราคิดว่า ชั้นไม่อยากได้เงินทองมากมาย ชั้นไม่ค้ากำไรเกินควร ไม่คิดอยากได้โน่นนี่ก็ ไม่โลภละนี่ จริงๆแล้ว คำว่า โลภนี้ ท่านสอนว่า พระไตรปิฎกละเอียดว่านั้น ความเพลิดเพลินในสิ่งหนึ่งก็เป็นโลภด้วย เช่น ดูหนังอย่างเพลินเพลินสนุกสนาน แบบนี้ก็โลภ เพราะเราไม่อยากให้มันจบ พอจบแล้วหลายคนร้อง อ้าว จบละ ?? ทำไมจบเร็วจัง อยากให้มี ภาคสองภาคสามต่อ นี่ก็เป็นความโลภครับ โลภแบบที่เราไม่เคยรู้ คนเราก็ตรงนี้และครับ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุเกิดทุกข์ ก็เลยมีความทุกข์ที่มันดับลงไม่ได้เสียที หนังสือ เทคนิดเพิ่มสุข ของท่านอธิบายข้อธรรมแบบง่ายๆ และมีผังภาพโยงร้อยเข้าด้วยกัน แปลว่า ทุกๆสิ่งมันสัมพันธ์กัน เราไปคิดว่า กุศลจิตต้องทำ ละความเป็นอกุศล ต้องเลิก จริงๆท่านว่า ถ้าคุณรู้ว่า จิตเรามันเกิดและดับอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ มันรับอะไรได้อย่างเดียวเท่านั้น คุณจะรู้ว่า เมื่อเราคิดหรือพูดหรือทำในกุศล อกุศลก็ดับไปเลยทันที คือ ไม่ต้องไปตั้งว่าจะต้องดับความชั่ว แต่ว่าแค่เราคิดดี ห้วงนั้น ความคิดชั่วก็ไม่มี เมื่อเราทำบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ให้คิดดีๆบ่อยๆ มันก็เท่ากับละเลิกความชั่วนั้นเอง จิตเหมือนประตูบ้านเดียว เข้าได้ทีละอย่าง ถ้าเอาดีเข้า ความชั่วก็เข้าไม่ได้ละ มันดับของมันเอง ไม่ต้องไปวิ่งไล่ดับมันเลย
การคิดดีและเรียนธรรมะเหมือนท่องสูตรคูณ ถ้าหากไม่เคยท่อง จู่ๆเค้าถามว่า มีคนอยู่เจ็ดหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีต้นไม้่ เจ็ดต้น ถามว่ารวมทั้งหมดมีต้นไม้กี่ต้น คนที่เคยท่องสูตรคูณตอบได้ทันทีเลยว่า เจ็ด เจ็ด สี่สิบเก้า ส่วนคนที่ไม่เคยท่อง จะต้องง ต้องหาทาง หาวิธี เช่น นับนิ้วบ้าง ต้องขีดในกระดาษทีละขีดบ้าง แบบนี้ ธรรมกุศลจิตก็เหมือนกัน ถ้าเราจำได้ เราเข้าใจมันแล้ว มันจะติดอยู่ในใจเราเลย ไม่ต้องเสียเวลามาประมวลให้มาก จิตเราเกิดดับเร็วมากๆ แปปเดียวเราก็จะทำไปโดยอัตโนมัติ พอๆกับการที่เค้าด่าเราปุ๊ปเราด่าสวนเลย ยุงกัดๆคันๆปุ๊ป ตบ ป้าบ พวกนี้คือ อกุศลกรรมที่เราทำมันจนชินจนไม่รู้แล้วแสดงออกมาโดยเสมือนว่าไม่ได้ผ่านการตริตรองอะไรเลย เร็วมากๆ แต่จริงๆแล้ว หนึ่งความคิดจิตเกิดดับสิบเจ็ดจิต และในห้วงสิบเจ็ดจิตที่เกิดดับนั้น มีความคิดชั่ว การสั่งให้กายทำชั่ว การกระทำออกมาแบบชั่วๆ รวมร้อยเรียงไว้ แต่มันเกิดเร็วมากๆ เรามองตามมันไม่ทัน เพราะนั้น การทำความดีก็เช่นกัน หากฝึกจนชิน จนรู้ธรรม จำในใจได้ มันก็จะทำอกุศลออกมาทันทีแบบอัตโนมัติ ด่าปุ๊บยิ้มปั๊บ จิตไม่ทันเศร้าหมอง ยุงกัดปุ๊ป เอามือปัดๆ ไล่ๆ ไม่ไปฆ่ามันไม่ทำผิดศีล แบบนี้ ฯลฯ พูดคร่าวๆครับ อยากฟังแบบละเอียดยาวๆ ไปกราบท่านเองที่ นิโรธารามเชียงใหม่ หรือเข้าเวป http://www.nirotharam.com ขอบอกก่อนว่า เวปนี้ท่านไม่ได้ทำเอง เป็นลูกศิษย์และเหล่ากรรมการมูลนิธิ เพราะที่นั่น ท่านไม่มีทีวี ไม่มีคอมพิวเตอร์ และภิกษุณีทั้งหมดที่นั่นท่านฉันมื้อเดียวครับ เป็นอาหารมังสวิรัต พูดเพราะถ้าจะเอาอาหารไปถวาย จะได้ทราบก่อน
ทีนี้ แค่อธิบายธรรมะที่ยากให้ง่าย ร้อยเรียงเป็นเหตุผลสอดคล้องกัน ยังเอาผมไม่ลงหรอก ผมยังมีความเป็นอัตตายึดตัวตนสูงมากๆ ต่อให้ได้อ่านหนังสือ เทคนิคเพิ่มสุขของท่านแล้วถึงขั้นวางไม่ลง อ่านตั้งแต่เช้ายันดึก บางตอนอ่านไปร้่องไห้ตัวสั่นเครือด้วยความปิติสุขว่า เข้าใจแล้วตรงนี้ที่ขัดข้องติดใจมานาน เท่านี้ก็ยังไม่แรงพอที่จะปราบผมได้ เพราะผมหาพระมาเยอะ ปฏิบัติธรรมมาหลายที่ อ่านหนังสือธรรมะมาเป็นกองๆ สอบพุทธศาสนาไม่มีคำว่าเกรดสามครับ สี่ตลอด หนังสือดูดวงจีนที่ว่ามีเยอะแล้ว หนังสือธรรมะเยอะกว่าสามสี่เท่า อ่านมามาก ยกเว้น “พระไตรปิฎก” เพราะเคยลองเปิดอ่านแล้วปรากฎ อ่านไม่เข้าใจไม่รู้เรื่องครับ ภาษาบาลีและศัพท์ลึกๆเราไม่ทราบ อย่าว่าแต่พระไตรปิฎกเลย บทสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นเนี่ย บางคำที่สวดนะ ไม่เคยเข้าใจความหมายจริงๆหรอก มาเข้าใจเอาตอนภิกษุณีท่านสอน เช่น พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ เอ้านี่มันแปลว่าอย่างไรหนอ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ เราก็เข้าใจว่า อ่อ มันเป็นความลำบากใจ ไม่แช่มชื่นในใจ ไม่สบายใจ จริงๆไม่ใช่ ทุกข์เนี่ย แปลว่า เป็นอยู่อย่างเดิมไม่ได้ คือ เกิดมาแล้วเป็นอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ก็เลยแก่ แก่แล้วเป็นอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ก็เลยตาย และระหว่างหนทางเชื่อม คือ เป็นอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ตรงนี้หละทำให้เราเกิดทั้ง โลภะ อยากเต่งตึงดูหน้าเด็ก ดูดีดูหล่อ โทสะ เห็นสิวเห็นรอยบนหน้าแล้วไม่ค่อยสบายใจ โมหะ คิดว่าความคิดสองอันข้างต้นนี่ไม่ได้เป็นอกุศลจิตนี่ ไม่ได้ทำร้ายใคร จริงๆครับ ไม่ทำร้ายใคร แต่ทำร้ายจิตกุศลตัวเองโดยไม่รู้ตัว ความไม่รู้ตัวนี่หละ คือ หลง เพราะนั้นหากเข้าใจแล้ว เราจะเลิกอกุศลจิตทันทีเลย เลิกคิดจะต้องไปบำรุงปรุงแต่งให้มันมากมาย และถามว่าอะไรที่ทำให้เราทำได้ยาก คำตอบคือ สิ่งแวดล้อมของการเป็นคนต้องทำมาหากินนี่หละ อย่างๆน้อยๆที่บ้านเราต้องมีกระจกละ ส่องหน้าปุ๊ป เกิดที่ผมว่าไม่พอ เกิดการยึดว่า นี่คือ ตัวฉัน ร่างกายฉัน หน้าฉัน ซึ่งจริง มันไม่ใช่ของเราเลย
ที่นิโรธาราม เลยไม่มีกระจกแม้นสักบานให้คุณส่องหน้า ไม่ได้พูดเล่นนะ ไม่มีจริงๆครับ ผมไปเข้าปฏิบัติธรรมตื่นเช้าจะล้างหน้าเสร็จจะส่องว่า มีขี้หู ขี้ตา ติดไหม หากระจกไม่ได้ และท่านสอนให้ระลึกเสมอ ร่างกายนี่เป็นถุงขี้ซึม ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ไคล มันซึมออกมาตลอด เป็นสิ่งน่ารังเกียดไม่ควรเอามายึดถือ เป็นสิ่งที่ก็เสื่อมไปๆเรื่อยๆคือมันตั้งอยู่เป็นอยู่อย่างเดิมไม่ได้ครับ ถามว่าขี้ไคลที่แขนที่เราถูๆมันออกมานี่ของใคร หลายคนตอบว่า ก็ของเรา เกิดจากร่างกายเรา ท่านสอนว่า เช็ดมันออกสิ ปัดมันไปก้ได้ แล้วดูอีกที นี่ของใคร เราปัดมันออกไปแล้ว มันหายไปแล้ว ก็ไม่ใช่ของเรา งั้นจริงๆ มันเป็นของเราหรือ ไม่ใช่นะ มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จิตที่คิดเรื่องเมื่อวานที่เราเครียดๆ มาวันนี้มันมีอยู่หรือ มันก็ดับไป แบบนี้ ร่างกายของเมื่อวานก็ไม่ใช่ของวันนี้ เหมือนดัง เราจุดเทียนไขเปลวเทียนตอนเริ่มจุด กับ เปลวเทียนตอนจุดสักชั่วโมงผ่านไป เป็นเปลวเทียนอันเดียวกันไหม ว่าแล้วท่านผู้อ่านจะลองจุดดูก็ได้นะครับ ก็ตอบว่าจริงๆมันเกิดดับๆเรื่อยๆ แต่พอมันเร็วมากเลยราวกับว่ามันเป็นอันเดียวกัน ข้อพิสูจน์คือ มันใช้ไส้เทียนคนละไส้นะ มันใช้ไขเทียน คนละไข และออกซิเจนก็คนละกลุ่ม ไม่เชื่อก่อนจุดเอาปากกาแดงขีดทำเครื่องหมายไว้ครับ พอจุดไปๆ ไขเดิมละลายใช้ไขอันใหม่ มันก็เกิดดับๆ ไปแบบนั้น ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า อ่านหนังสือ เทคนิคเพิ่มสุขแล้ว ได้มาฟังธรรมของท่าน ทำให้เข้าใจมากขึ้น ท่านอธิบายหลายเรื่อง หลายหัวข้อมากๆ สิ่งที่แปลกคือ ผมลืมเอาสมุดจดคำถามไป และนั่งนึกคำถามในระหว่างที่ฟังธรรมท่าน นึกปุ๊ป ท่านก็กล่าวประเด็นคำตอบปั๊ปออกมาทันที ผมก็นึกว่าคงบังเอิญน่า วงเล็บมันบังเอิญแบบนี้ ยี่สิบสามสิบรอบเลยนะ เท่านั้นไม่พอ พอท่านพูดสิ่งที่เหมือนจะเป็นคำตอบออกมา ผมก็แย้งคืนว่า หากมันเป็นแบบนั้นหละ หรืออาจจะไม่ใช่มั่งเพราะเหตุผลนี้ๆ ท่านก็พูดของท่านบนธรรมาส ผมก็นึกในใจเฉยๆนะ พลันท่านก็มาพูดประเด็นที่เหมือนเป็นคำตอบดักทางผมซ้อนอีกชั้น สว่างแจ้งแบบถามอะไรต่อไปไม่ได้เลย จบตรงนั้นเลย สุดตรงนั้นเลย ได้คำตอบตรงนั้นเลย น้ำตาก็ไหลออกมาซึมๆ พยายามกลั้นเอาไว้ น้ำตาอันมาจากความปิติว่า อ้อ ฟังธรรมแล้วเราเข้าใจความหมายจริงๆ มันจะเป็นแบบนี้ คือรู้แล้วสว่างมากๆ ประเด็นคือ ไม่ได้เอ่ยถามท่านสักคำครับ คิดในใจหมด ท่านก็ตอบมาหน้าเวทีแบบไม่ต้องได้ยินเสียงผมถาม ตกบ่ายวันนั้น กำลังจะไปช่วยเค้ายกเก้าอี้ ท่านก็เรียกผมว่า นายคนนั้นหนะ มาหาชั้นหน่อย มานี่ ชั้นรู้ว่าเธอมีคำถามจะถามอีก มา เชิญนั่ง แล้วก็เมตตาตอบคำถามพร้อมกับสั่งสอนผมอยู่นานเทียว (คำถามคือ ท่านรู้ได้ยังไงว่า ผมอยากจะถาม มีคนมาในวัดร่วมห้าสิบคน นะครับ) เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน สามเรื่อง ผมจึงยกมาตอบ นอกนั้นคงไม่เป็นประโยชน์อะไรมาก
เรื่องแรก ผมถามว่า พอมาดูดวงคนนี่ผมทราบเลยว่า บุญบาปมีจริง กรรมมีจริง ทำบุญได้ผลจริงๆ คนเราพอเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนการกระทำ ดวงก็จะเปลี่ยนได้ ดวงจีนถือแบบนี้ ไม่เชื่อเรื่องดวงดาวมีขีดเส้นวาสนาคนเด็ดขาด แต่ว่า เปลี่ยนแล้วเมื่อไหร่จะได้ผลหละ ท่านเคยสอนผมว่า ทำทานนั้นได้แน่นอน แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น คำถามผมคือ เราทำดีหรือทำชั่วหนะ มันส่งผลช้าเร็วขึ้นอยู่กับอะไร ทำไมบางคนรวยๆทั้งที่ก็ไม่ได้ทำดีอะไรมาก บางคนนะ ทำบุญบ่อยมากๆ แต่ก็ยังจน ท่านตอบว่า จำได้ไหมเคยบอกว่า จิตเกิดดับ 17 จิต อันนี้มาจากพระไตรปิฎกนะ ใน 17 จิตนั้น มี 7 จิตเป็นตัวกำหนดผลความช้าเร็วของผลนั้นที่จะเกิด บางทีเกิดทันที บางทีก็เกิดไปอีก 2 ชาติ อีก 7 ชาติ แบบนี้ ขึ้นอยู่กับว่า เราจับมีสติรู้กับมันทันไหม และแต่ละจิตๆใน 7 อันนั้นเราเข้าใจอะไรมันทันไหม กุศล และอกุศลเป็นเรื่องละเอียดมากๆ ต้องไปเรียนอภิธรรมเพิ่มหากจะอยากเข้าใจ อธิบายเท่านี้เวลาน้อย เอาเป็นให้รู้ตรงนี้ก่อน
เรื่องที่สอง ผมถามว่า ที่ผมพูดกูๆมึงๆ หรือคำไม่สุภาพนี่ เป็นบาปไหม ท่านตอบมาและผมก็สรุปความประกอบเอาในใจได้ว่า จิตมันเกิดดับเร็วมาก ต่อให้เราพูดแล้วรู้สึกว่ามันคืออารมณ์กลางๆ ไม่ได้มุ่งร้ายใคร เจตนาจะให้เค้าตื่นรู้ ตาสว่างก็ตาม แต่เมื่อจิตเกิดดับไวมาก ละเอียดมาก ยอมรับไหมหละว่า ลึกๆมันก็มีความที่ตัวตนเราแทรกอยู่ มีอัตตา มียกตนข่มท่านแบบเบาๆ ละเอียดๆแทรก เราไม่ใช่พระอริยะฝึกจิตมายังไม่ดีพอ จับไม่ได้รู้ไม่ทันหรอก วิธีป้องกันคือ อย่าทำเลย โดยเฉพาะการไปปรามาสพระอริยะ ส่งผลกรรมหลายชาตินะ ตามที่บอกไปแล้ว เพราะนั้น ความคิดไม่ดีผุดขึ้นต้องรีบหุบปาก ไม่พูดออกไปผมเข้าใจว่าแบบนี้หละครับ แล้วท่านก็เรียกพระลูกศิษย์ว่าไปหยิบหนังสือที่หอฉันเป็นหนังสือที่ให้ภิกษุณีที่นั่นสวดตอนรับบิณฑบาตร ท่านเอามาให้ผมเป็นกรณีพิเศษ บอกว่า ด้านหลังมีข้อวัตรสมบัติผู้ดี ให้เธอเอาไปอ่านและยึดเป็นวินัยทำตาม หนึ่งในนั้นคือ ห้ามพูดคำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ อันเป็นวจีทุจริต อันผิดศีลห้า อันเป็นทางทีขัดหรือแย้งกับมรรคคมีองค์แปด ท่านสอนผมเรื่องนี้ผมเลยเข้าใจเลยว่า อ้อ บางทีเราอยากสอนคนแต่เราใช้คำหยาบๆ กลายเป็นจิตเราไม่มุ่งทำร้ายใครไม่ด่าใคร แต่โดยละเอียดลึกๆ มันก่ออกุศลจิตใน 17 จิตที่เกิดดับต่อหนึ่งอารมณ์นั้นๆ ต่อให้เราพิมพ์แล้วเราไม่ได้มุ่งทำร้ายหรือด่าทอให้คนอ่านต้องเสียหาย แต่มันเป็นผลไม่ดีที่เกิดกับจิตเราเอง ทำร้ายจิตเราเอง นี่คือสิ่งที่ วิดิโอเรื่องเทพเจ้าเตา ที่ผมให้หลายๆคนไปเปิดดูว่า ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี ก็เพราะ มันไม่บริสุทธิ์ผ่องใสแท้จริง เราหวังดีจริง พูดเพื่อให้เขาตาสว่างจริง แต่การใช้คำหยาบคายนั้น ทำร้ายจิตเราเอง เรื่องอื่นๆ ท่านก็ลองไปปรับประยุกต์คิดดูนะครับ
เรื่องที่สามนี่ ผมถามแล้วท่านตอบเอาผมแทบจะกลั้นน้ำตาแห่งความปิติในความรู้ที่มากระทบจิต และในความสำนึกบาปที่เราโง่เขลามานานมากๆ ผมถามท่านว่า จะรู้ได้ไงว่า ใครเป็นผู้ปฎิบัติดี ปฏิบัติชอบที่แท้จริง ท่านภิกษุณีรุ้งเดือนก็เมตตาตอบให้ว่า เมื่อรู้จริง(สัจจะ) ย่อมฝึกตน(ทมะ) ด้วยความอดทน(ขันติ) และเสียสละ(จาคะ) ตอบแค่นี้ครับ ผมน้ำตาแทบไหลพรากๆ เพราะตอนเด็กเข้าค่ายคุณธรรมนี่(โรงเรียนผมจัดเข้าค่ายคุณธรรมทุกปี ให้นั่งสมาธิก่อนเรียน 10 นาทีทุกเช้า เชิญพระมาเทศน์ทุกวันสำคัญๆ และมีเพลงธรรมะให้ฟังก่อนเคารพธงชาติ30-50นาที แบบนี้ตลอด 12 ปี ที่เรียนที่นั่น-ไม่เคยย้ายโรงเรียน) เค้าจัดกลุ่มแบ่งตามนี้เลย สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ มันฝังในใจอยู่เสมอว่า ทมะ แปลว่า ความข่มใจ ข่มยังไง บังคับตัวเอง ฝืนใจตัวเองแบบนั้นหรือ แล้วก็ไม่ได้คิดต่อ หยุดตรงนั้น มาวันนี้ถึงเข้าใจว่า เหมือนวาสนาเราเค้าเตือนเราว่า ถ้าเธอคิดว่าเธอรู้ธรรมะจริงๆ แน่จริง เก่งจริง อ่านหนังสือธรรมะมาเยอะ สอนคนมาเยอะ คนเรียกเธอว่า ซินแสๆ บ้าง อาจารย์บ้าง คนอายุเยอะกว่ายกมือไหว้เธอบ้าง ศรัทธาที่เธอเขียน หรือแม้แต่สอนได้คะแนนดีๆในพุทธศาสนาวิชา หรือสอนให้คนอื่นเข้าใจธรรม เข้าใจกรรมได้บ้าง ประปรายนั้น ยังไม่ใช่การรู้ที่แท้จริง คนที่รู้จริง ย่อมฝึกตน คือ ฝึกฝนเตือนตนเสมอ ทำออกมาตามที่คิดได้ด้วย เวลาเราไปฟังเทศน์เราจะรู้เลยว่า คนนี้พูดจากท่องจำมา รู้อย่างเดียว คนนี้พูดจากการกระทำ คือเค้าทำมาแล้ว เค้าพูดจากที่เค้าทำมาด้วย รู้มาด้วย จะพูดได้คล่อง พูดได้เรื่อยๆ ไม่ติดไม่ขัดไม่ต้องมานึกว่า เอ้ อะไรต่อ พูดอะไรต่อดี ฉะนี้ ผู้รู้จริงแล้วย่อมฝึกฝนตนเอง ด้วยความอดทน คือไม่ทำตามใจ และเสียสละ ในที่นี้ไม่ใช่แค่ทำทานทำบุญ มันคือ การ สละ ทิ้งสิ่งที่มีค่าน้อยไปหาสิ่งที่มีค่ามาก สละความสบายเพื่อรักษาศีลห้า สละศีลห้า เพื่อรักษาศีลแปดคือละทิ้งการดูการละเล่น และนอนในที่อ่อนนุ่ม ใช้เครื่องของหอม คือ สละตัวตนของเราในไม่ดีๆทิ้งออกไปด้วย ทั้งนี้ เธอก้ไม่ควรจะไปปรามาส พระ หรือ บุคคลใดๆ เลย เพราะการกระทำแบบนั้นเป็นการกีดกั้นสติปัญญาที่จะได้รู้จริงด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แบบละเอียดอ่อนที่เธออาจมองไม่เห็นด้วย ทั้งหมดนี้ผมคิดออกมาผุดออกมาในใจ
ท่านบอกอีกว่า ส่วนบางครั้งที่เธอเขียนบทความ หรือพูด แล้วมาอ่านอีกรอบ หรือคนฟังเค้าบอกว่า มันไม่ใช่ตัวเธอ หรือประหลาดใจที่เธอพูดได้ขนาดนั้น ตัวเธอเองก็ประหลาดใจคิดว่า สติปัญญาตัวเองมีไม่ถึงจะเขียนได้ขนาดนั้นหรอกนั้น จริงๆแล้ว มันประมวลจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทั้งชาตินี้และชาติก่อนและที่เธอได้อ่านมารู้มาทั้งหมด ร้อยเรียงเกิดขึ้นกันแบบรวดเร็ว ก็พอๆกับ ธรรมะบางข้อที่ได้คำตอบแบบผุดออกมาในใจเสมือนว่ามีคนมาตอบเธอได้ แบบนั้น
ออกจากปฏิบัติธรรมมา ท่านว่า ผมนั่งสมาธิไปกี่ชั่วโมงครับ คอร์สนี้ เค้าให้นั่งกี่ชั่วโมง ลองทาย แต่ผมได้อะไรที่มันยิ่งใหญ่กว่าไปปฎิบัติธรรมที่ไหนๆมาเยอะ
ตอบ นั่งไป 30 นาทีเท่านั้น ภิกษุณีท่านบอกว่า สมถ-วิปัสสนา ไม่ใช่สิ่งที่อะไรเหนือกว่าอะไร ไม่ใช่ สมถคือขั้นต้น วิปัสสนาคือขั้นปลาย ไม่ใช่ว่าต้องมุ่งนั่งสมาธิวิปัสสนาแบบเอาเป็นเอาตายอย่างเดียว แล้วเรามาอวดอ้างว่า ชั้นนั่งได้ 10 ชม. ชั้นนั่งวิปัสสนา รู้จิตไม่ได้มานั่งสมถ ท่านว่า ในสมถก็มีวิปัสสนา เช่น เรากำหนดจิตที่ลมหายใจเข้าออก คือสมถะ ในขณะเดียวกันก็พิจารณาเห็นเกิดดับของลมหายใจ คือ มีหายใจเข้า ก็ต้องดับไป เกิดหายใจออก หายใจออกแล้วก็ดับไป หายใจเข้า มันตั้งถาวรไม่ได้ จะหายใจเข้าอย่างเดียวไม่ออกเลยก้ไม่ได้ และในวิปัสสนาก็มีสมถะ เช่น เราไปเพ่งที่เวทนา ปวดหนอๆที่เข่า แบบนี้คือ เราก็เอาจิตเราไปจ่อกับเข่า เป็นสมถด้วย เป็นต้น การนั่งสมาธิที่นี่ เลยไม่มีกำหนดว่า ต้องนั่งท่าอะไร ขาข้างไหนต้องทับข้างไหน เรื่องนี้ผมทรมานมากๆเวลาไปนั่งที่อื่น เพราะบางวัดผมจะโดนพระตำหนิตลอดว่า โยม นั่งให้ถูก ผมเป็นคนชอบเอาเท้า และมือ ซ้าย ทับเท้าและมือขวาครับ มันสบาย สงบกว่า ซึ่งก็ขัดกับวัดต่างๆที่บอกว่า กำหนดให้ มือขวา ทับมือซ้าย เท้าขวา ทับเท้าซ้ายครับ ที่นิโรธารามนี้ สอนให้ท่านนั่งสบายๆ และสอนให้รู้ว่า ปฏิบัติธรรม รู้ธรรมได้ ไม่ต้องนั่งสมาธิอย่างเดียว ทำอย่างอื่นก็รู้แจ้งได้ พระไตรปิฎกกล่าวไว้ดังนี้ว่า
1. การได้ฟังพระสัทธรรม ก็เป็นเหตุให้หลุดพ้นได้ 2. การแสดงพระสัทธรรม ก็เป็นเหตุให้หลุดพ้นได้ 3. การสวดสาธยายธรรม ก็เป็นเหตุให้หลุดพ้นได้ 4. การพิจารณาธรรม ก็เป็นเหตุให้หลุดพ้นได้ 5. ฉลาดในสมาธินิมิต ก็เป็นเหตุให้หลุดพ้นได้
ข้อใดข้อหนึ่ง เหมือนที่ผมได้ฟังธรรมแล้วก็เกิดปิติ ปิติน้ำตาไหล ตัวสั่นๆ แรงกว่าปิติที่เกิดจากสมาธิภาวนาเป็นวันๆในบางครั้งเสียอีก ที่นี่มีอุบายและวิธีสอนที่ทำให้แม้นออกวัดมาแล้ว เราก็ยังจำคำสอนนั้น
**หากท่านมีความประสงค์อยากฟังธรรมะจากท่านภิกษุณีรุ้งเดือน ขอให้ท่านเข้าไปฟังได้ที่เวปไซต์ตรงนี้**
**หากท่านมีความประสงค์อยากจะขอรับหนังสือ “เทคนิคเพิ่มสุข” ไปอ่าน สามารถเข้าไปกดดูที่นี่ **
ขอกราบเคารพศรัทธาในศีล ธรรม ที่ท่านได้บำเพ็ญมา
รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปีพุทธศักราช 2552
“รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา” เป็นรางวัลเกียรติยศที่มอบให้แด่สตรีผู้อุทิศตนทำคุณประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาเป็นประจำทุกปี เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ของสตรี ซึ่งมี ดร.สุธีรา วิจิตรตรานนท์ เป็นประธาน และ ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัตน์ เป็นเลขาธิการ รางวัลนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยได้มอบให้แก่สตรีทั้งที่เป็นภิกษุณี แม่ชี ชีพราหมณ์ และอุบาสิกา ทุกเชื้อชาติจากทุกมุมโลกไปแล้วกว่าร้อยคน ผลของโครงการนี้ทำให้สตรีชาวพุทธทั่วโลกสามารถสานต่อความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายช่วยเหลือกันทางสังคม และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางศาสนาอย่างกว้างขวาง ( http://www.we-train.co.th หรือ http://www.apsw-thailand.org) ผู้รับรางวัลในปีนี้มีทั้งหมด 19 ท่าน ดังต่อไปนี้
ภิกษุณีพูลสิริวรา (ไทย/อเมริกัน) เกิดที่ประเทศไทย แต่ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกานานกว่า 20 ปี สร้าง “ศูนย์สวนสิริธรรม” ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อฝึกสมาธิให้แก่เยาวชน ท่านเชื่อว่า “สตรีก็ทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้หลากหลายวิธี หากสตรีสามารถก้าวข้ามค่านิยมทางวัฒนธรรมเข้าสู่ความเสมอภาค”
ภิกษุณีนันทญาณี (ไทย) ริเริ่มโครงการสิ่งแวดล้อมสตรี เพื่อยกฐานะของสตรีทางภาคเหนือให้หลุดพ้นจากการค้าประเวณี ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดนิโรธาราม จังหวัดเชียงใหม่ และมุ่งมั่นในการอบรมสั่งสอนศิษย์เพื่อพัฒนาภิกษุณีและสามเณรีให้เร่งรุดในธรรม
ภิกษุณีปัญญาวตี (ไทย) มีความรู้ในพระพุทธศาสนาทุกนิกายและทุกศาสนา ท่านได้จัดตั้งที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเป็นพลังสำคัญสนับสนุนสิทธิมนุษยชนเด็กและสตรี โดยเรียกร้องความเสมอภาคของนักบวชหญิง และเรียกร้องให้เลิกการทารุณมนุษย์ในสังคมอเมริกัน
ภิกษุณีโช่ววี้ (พม่า/ไต้หวัน) เกิดที่พม่าแต่ไปเติบโตในไต้หวัน ท่านต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้แก่นักบวชสตรีวัชรยานที่ต้องการอุปสมบทเป็นภิกษุณีในไต้หวันจนสำเร็จ ทำให้นักบวชหญิงในธรรมเนียมทิเบตสามารถเข้าร่วมสังฆกรรมในไต้หวันได้ นับเป็นการสานต่อวงศ์ของภิกษุณีให้สืบสายต่อๆ กันไป
แม่ชีชูใจ ปทุมนันท์ (ไทย) บริหารศูนย์การศึกษาเด็กปฐมวัยวัดบุญศรีมุนีกรณ์ ศูนย์พัฒนาเยาวชนแห่งสถาบันแม่ชีบุรีรัมย์ วิทยากรส่งเสริมอาชีพกลุ่มแม่บ้านและเยาวชน ท่านได้อุทิศตนเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสศูนย์ปฏิบัติธรรมรัตนไพบูลย์
แม่ชีนลินรัตน์ สุทธิธรรมวิชญ์ (ไทย) เชื่อว่า “ความดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องแห่งพระพุทธศาสนาคือเป้าหมายแห่งชีวิต” ท่านจึงอุทิศตนเพื่อพัฒนาจิตมนุษย์ ด้วยการสนับสนุนผู้ที่ต้องการบวชเป็นภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี หรือชีพราหมณ์ โดยดำเนินการมากว่า 38 ปีแล้ว
แม่ชีบริจิทท์ สโครเท็นบั๊คเค่อร์ (ออสเตรเลีย) ปฏิบัติสมาธิเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ท่านบวชเป็นแม่ชีจนเชี่ยวชาญวิปัสสนา ท่านบิณฑบาตเพื่อเกื้อกูลแม่ชีอีก 60 รูป และเผยแผ่สมาธิวิปัสสนาแก่ชาวโลก ท่านสงเคราะห์คนยากจน ผู้ติดยาเสพติด ผู้ติดเชื้อเอดส์ และผู้ประสบภัยในประเทศไทย
มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย (ไทย) สร้างขึ้นจากแนวคิดของแม่ชีคุณหญิงขนิษฐา วิเชียรเจริญ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับสตรี โดยเปิดโอกาสให้แม่ชี ชีพราหมณ์ และอุบาสิกาได้ศึกษาธรรมะเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยมีองค์กรพุทธศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการให้การรับรองคุณวุฒิ
โครงการธรรมโมลี (เนปาล) ดำเนินงานโดยภิกษุณี ดร.ธรรมวิชัย และภิกษุณี ดร.โมลินี ท่านทั้งสองช่วยเหลือเด็กหญิงเนปาลีที่ถูกพ่อแม่นำไปขายเป็นโสเภณีเพราะความยากจน และเยียวยาจิตใจของเด็ก รวมทั้งให้การศึกษาและฝึกอบรมอาชีพให้ในโรงเรียนของสามเณรีที่กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
กฤษดาวรรณ หงส์ลดารมภ์ (ไทย) อดีตอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพันดาราและศูนย์วัฒนธรรมทิเบต เพื่อเผยแพร่ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมแบบทิเบต และกำลังก่อสร้างศานติตารามหาสถูป เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมแบบทิเบตแห่งแรก ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
รสนา โตสิตระกูล (ไทย) เชื่อว่าวิถีพุทธหมายถึงความเมตตากรุณาที่จริงใจ นอกจากแปลหนังสือพุทธศาสนาแล้ว ท่านประยุกต์แนวคิดพุทธศาสนากับการพัฒนาสังคม เพื่อผลักดันสถานะและบทบาทของสตรีไทย เพื่อแก้ไขปัญหาทางเพศที่บุรุษผูกขาดอำนาจเหนือสตรีไทยมาโดยตลอด
ซูซาน เพมโบร์ค (อเมริกัน) ส่งเสริมภิกษุณีไทยทั้งด้านการศึกษาและกิจกรรมทางศาสนา ท่านก่อตั้ง “สหพันธ์ภิกษุณีแห่งโลก” ขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางกระชับความสัมพันธ์ของเหล่าธรรมาจารย์ ที่อุทิศตนช่วยเหลือสังคมและเผยแผ่ธรรมะ ทั้งในวัฒนธรรมไทยและในสังคมโลก
รินเช็น คอนโด โชเคียว (อินเดีย) เกิดในทิเบต แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในอินเดีย ท่านอุทิศตนช่วยเหลือนักบวชสตรี คนชรา และคนยากจนชาวทิเบตที่อพยพลี้ภัยอยู่ในอินเดีย จัดตั้งโครงการนักบวชสตรีเพื่อศึกษาและอนุรักษ์พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมแบบทิเบตไว้
อดดอม แวน ซีวอน (กัมพูชา) ขับเคลื่อนสังคมการเมืองกัมพูชาตามวิถีพุทธในรูปแบบธรรมยาตรา สอนสมาธิแนวพุทธให้แก่สตรีและเยาวชน เปิดอบรมความรู้เรื่องสันติวิธีแก่เด็กและสตรี และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงในกัมพูชา
โจแอน โฮเจทสุ โฮเบอริทส์ (อเมริกัน) เป็นนักธุรกิจมาก่อนที่จะอุทิศตนเผยแผ่ธรรมะในวิถีเซนแบบญี่ปุ่น ท่านเป็นผู้นำชาวพุทธนิกายเซนในเมืองริชวูด รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการรักษาสุขภาพใจโดยใช้วิธีการรักษาแบบเซนในศรีลังกาอีกด้วย
ชาริกา มาราสิงหละ (ศรีลังกา) จบปริญญาเอกกฎหมายจากอังกฤษ ท่านเชี่ยวชาญและทำงานด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติมากว่า 22 ปี ปัจจุบันท่านยังคงอุทิศตนช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่คนยากจน และช่วยคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนในศรีลังกา
จาเนซ วิลลีส (อเมริกัน) เป็นนักเขียนและสอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแบบทิเบตที่มหาวิทยาลัยเวสเลียนมากว่า 32 ปี ท่านเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณและจิตปัญญาที่สังคมชาวพุทธอเมริกันให้ความสำคัญมากคนหนึ่ง
แครอล กันโช โอด์ดาวน์ (อเมริกัน) มีสมญาทางศาสนาว่า “กันโช” ท่านเป็นชีพราหมณ์ที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สามารถนำพาชาวเอเชียในสหรัฐอเมริการ่วมกันสวดมนต์พุทธในโบสถ์คริสต์ ท่านก่อตั้ง “สมาคมสตรีชาวพุทธ” ทำให้ชาวตะวันตกสนใจและเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้น
อัลลิโอเน (อเมริกัน) อาจารย์สอนธรรมะและสมาธิแบบทิเบต มีประสบการณ์ชีวิตทางธรรมแบบทิเบตมาหลายสิบปี ท่านเขียนบทความ สารคดี และหนังสือธรรมะ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ทางธรรมให้ผู้สนใจได้ศึกษา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 6 คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา โดย น้ำทิพย์ ศรีจันทร์ วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11313
ประวัติและปฏิปทา ภิกษุณีนันทญาณี (อดีตแม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ)
สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ • ประวัติส่วนตัว
นามเดิม รุ้งเดือน นามสกุล สุวรรณ ปัจจุบันอายุ ๕๗ ปี (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔) เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ณ ต.ท่าข้ามเหนือ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ บิดาเป็นชาวจีน มารดาเป็นชาวจังหวัดลำพูน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นที่ ๑ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รหัสนักศึกษา ๑๖๕๑๑๑ • ชีวิตบนเส้นทางธรรม
ด้วยธรรมชาติของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ใฝ่เรียนรู้ความจริง โดยเฉพาะเรื่องของชีวิต และคำถามที่ผุดขึ้นกลางใจเมื่ออายุ ๑๔ ปี ว่า “เกิดมาทำไม” ได้เริ่มนำไปสู่การแสวงหาคำตอบอย่างจริงจังแต่เป็นไปแบบไร้ทิศทาง ในที่สุดท่านได้พบแผนที่ชีวิตจากการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องอริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ผ่านงานเขียนของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม (วัดธารน้ำไหล) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และหนังสือธรรมะของท่านอุบาสิกากี นานายน (ท่าน ก. เขาสวนหลวง) แห่งสำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง (อุศมสถาน) อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสบการณ์ครั้งนั้นเองทำให้ท่านพบว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าตอบคำถามชีวิตตนได้ว่า “เกิดมาทำไม” จึงทำให้ท่านเกิดความศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้ผู้คนรู้จักความจริงของชีวิตและทางพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง
นับแต่นั้นมาท่านจึงเริ่มเดินตามรอยพระพุทธเจ้า โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเอง จากที่เคยแต่งตัวสวยงาม ดูหนังฟังเพลงตามประสาวัยรุ่นที่หมุนไปตามกระแสในสังคมขณะนั้น หันมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สู่กระแสธรรมดำเนินตามรอยพระพุทธเจ้า มุ่งสู่การพัฒนาขัดเกลาด้านจิตใจมากกว่าจะสนใจเรื่องรูปกายภายนอก
กระทั่งเมื่อขึ้นชั้นปีที่ ๓ ท่านจึงตัดสินใจพักจากการเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ไปเป็นนักศึกษาในร่มพระธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในหลายสำนักฯ ทั้งปฐมอโศก จ.นครปฐม, สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนหลวง (อุศมสถาน) จ.ราชบุรี, สวนโมกขพลาราม (วัดธารน้ำไหล) จ.สุราษฎร์ธานี ฯลฯ รวมเป็นเวลากว่า ๑ ปี เพราะต้องการพิสูจน์ชีวิตพรหมจรรย์ด้วยการฝึกฝนอย่างจริงจัง ประสบการณ์ทางธรรมที่หนักแน่นในครั้งนั้นทำให้ท่านยิ่งมีความมั่นใจในแนวทางของพระพุทธเจ้า อันนำมาสู่ชีวิตในเส้นทางธรรมที่มั่นคงในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นท่านได้กลับมาเรียนต่อตามคำขอของมารดาจนจบการศึกษา และออกมาทำงานอุทิศตนเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็งเป็นเวลากว่า ๒ ปี ก่อนตัดสินใจเข้าสู่ชีวิตพรหมจรรย์อย่างแท้จริงด้วยการบวชเป็นแม่ชี ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน โดยมี พระเดชพระคุณพระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมจักร) ได้เมตตากรุณาเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ขณะมีอายุได้ ๒๕ ปี ด้วยคิดว่าแม้จะทำงานรับใช้พระศาสนาและดูเหมือนเป็นคนดีในสายตาของคนทั่วไป แต่ตนเองรู้อยู่ภายในว่า โลภ โกรธ หลงยังมีอยู่ จึงตัดสินใจบวช ด้วยจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การเข้าถึงความสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง หลังจากบวชแล้วท่านได้อุทิศชีวิตและสติปัญญาเพื่อศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก
ครั้นต่อมา แม่ชีรุ้งเดือน สุวรรณ ได้รับสิริมงคลนามใหม่จาก พระเดชพระคุณพระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อทอง สิริมงฺคโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ว่า “นันทญาณี”
นันทญาณี เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า นนฺท + ญา + ณี
นนฺท แปลว่า ความเพลิดเพลิน, ความสนุก, ความยินดี, ความรื่นเริง ญาณี แปลว่า ผู้หญิงที่มีความรู้ (ธรรมะ)
นันทญาณี จึงแปลว่า ผู้หญิงที่มีความรู้ธรรมะที่น่าเพลิดเพลิน (แสดงธรรมได้สนุก ฟังไม่รู้จักเบื่อ) หรือ ผู้หญิงที่มีความเพลิดเพลินยินดีในธรรมะของพระพุทธเจ้า (บวชถวายชีวิตอุทิศตนต่อพระศาสนา)
สำหรับวัตรปฏิบัตินั้น ท่านเลิกใช้เงินนับแต่วันบวช ฉันอาหารมังสวิรัติมื้อเดียวในบาตร ดำรงชีวิตพรหมจรรย์อย่างสันโดษและมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย เคร่งครัดปฏิบัติตนอยู่ในหนทางการพ้นทุกข์ตามแนวทางอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อความรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ควบคู่ไปกับการทำประโยชน์ต่อสังคมโดยเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าแก่ผู้สนใจอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย ได้ผล จนเป็นที่ยอมรับจากสังคมในวงกว้าง
เนื่องจากท่านได้พยายามรักษาศีล เว้นการใช้เงินมานานกว่า ๒๐ ปี อีกทั้งคณะศิษย์แม่ชีหลายท่านก็สามารถรักษาศีลข้อนี้ได้ ท่านจึงมีความคิดที่จะบรรพชาเป็น “สามเณรี” เพื่อต้องการรูปแบบชีวิตของนักบวชสตรีที่ชัดเจนในการประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลสิกขาบททั้ง ๑๐ ข้อ และเพื่อการสำรวมระวังในชีวิตพรหมจรรย์ให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อได้กราบเรียนปรึกษาพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่บางรูปแล้ว ท่านก็อนุโมทนา ดังนั้น เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ท่านแม่ชีนันทญาณี พร้อมด้วยคณะแม่ชีแห่งสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม รวมทั้งหมด ๕ รูป จึงได้ตัดสินใจเดินทางไปบรรพชาเป็นสามเณรี ณ วัดสัทธัมมการะ (Saddharmakara) อำเภอคาลูทาร่า (Kalutara) เมืองปานาทุรา (Panadura Maha Vadaya) กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา
• บทบาทและผลงาน
♥ สืบทอด “ความรู้ในอริยสัจ ๔” สู่การปฏิบัติ จนสามารถสร้าง “อารามแห่งความดับทุกข์”
บทบาทและผลงานของท่านภิกษุณีนันทญาณี ที่สำคัญอันเป็นคุโณปการยิ่งต่อวงการพระพุทธศาสนาและมวลมนุษย์ คือ ความเป็นผู้สืบทอด “ความรู้ในอริยสัจ ๔” สู่การปฏิบัติ จนสามารถสร้างสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม “อารามแห่งความดับทุกข์” และเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตสู่ความพ้นทุกข์ตามแนวทางอริยมรรคมีองค์ ๘ (ศีล สมาธิ ปัญญา) แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ จากความรู้อันล้ำเลิศของพระพุทธเจ้าที่กล่าวถึงความสำคัญของอริยสัจ ๔ ว่า “เปรียบเหมือนใบไม้กำมือเดียวอันนำมาซึ่งความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง” (สํ.ม.๑๙/๑๗๑๒-๑๓) สู่การพิสูจน์ในชีวิตจริงภายในห้องทดลองที่เรียกว่า “สำนักปฎิบัติธรรมนิโรธาราม” ซึ่งมีการศึกษาวิจัยและปฏิบัติในเรื่องต่อไปนี้
(๑) ทุกข์ คือ ภาวะทนได้ยาก (ว่าโดยย่อ ความหลงติดใจเพราะพอใจ ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์) เป็นความจริงของทุกชีวิตที่ต้องศึกษาให้เกิดความรู้รอบอย่างถ่องแท้ (๒) เหตุเกิดทุกข์ หรือความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ คือ ตัณหา ๓ หรือความหลงติดใจเพลิดเพลินชอบมาก เป็นสิ่งที่ต้องละ (๓) ความดับทุกข์ (นิโรโธ) คือ ความดับอวิชชา ตัณหา ๓ ได้โดยสิ้นเชิง เป็นสิ่งที่ต้องกระทำให้รู้แจ้งเห็นแจ้งด้วยปัญญา (๔) อริยมรรคมีองค์ ๘ (ศีล สมาธิ ปัญญา) คือ ระบบการดำเนินชีวิตให้ถึงให้รู้ให้เห็นความดับทุกข์ ต้องปฏิบัติต้องภาวนาทำให้เกิดทำให้มี หรือควรเจริญกระทำให้มาก
เมื่อศึกษาในอริยสัจ ๔ และปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มากขึ้นแล้ว พบว่าปริมาณความสุขมวลรวมของสมาชิกในสังคมนิโรธารามเพิ่มขึ้น การแก้ปัญหาต่างๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น ปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาชีวิตของผู้คนที่มาสู่ร่มอารามแห่งความดับทุกข์แห่งนี้ก็ลดน้อยลง เพราะเกิดปัญญาเห็นตามจริงว่า ทุกชีวิตล้วนเป็นทุกข์ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันก็เพื่อเป้าหมายแห่งความดับทุกข์ ดังนั้น ผลการทดลองนี้จึงได้ข้อสรุปเป็นมรดกธรรมให้แก่สังคมว่า เมื่อมีความรู้ในอริยสัจ ๔ อย่างชัดเจนถูกต้องและดำเนินชีวิตตามครรลองของศีล สมาธิ ปัญญา ในอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างสมบูรณ์แล้ว ชีวิตก็จะพบกับประโยชน์และความสุขอย่างยิ่ง
♥ แสดงธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า และร่าเริง
ท่านภิกษุณีนันทญาณี เป็นผู้มีสติปัญญา มีไหวพริบปฏิภาณ และมีความสามารถในการแสดงธรรม ถ่ายทอดธรรม สู่มหาชนในทุกระดับชั้นได้อย่างแจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า และร่าเริง เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ เนื่องจากท่านสามารถทำให้ผู้ฟังเกิดสติปัญญา เห็นธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และหลุดพ้นจากความทุกข์เศร้าหมองได้ เป็นผลให้กลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่นับตั้งแต่พระภิกษุสงฆ์ ผู้ใหญ่วัยทำงานทั้งผู้บริหารระดับสูง และระดับพนักงาน เจ้าหน้าที่ ประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้สูงอายุ วัยรุ่น หรือวัยเด็ก สาธุชนทุกเพศทุกวัยต่างก็ได้รับประโยชน์และความสุขในธรรม เกิดจิตศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าและน้อมนำธรรมมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข สงบเย็น นับได้ว่าเป็นบทบาทและผลงานที่โดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง
ด้วยสติปัญญาอันแจ่มแจ้งชัดเจนในการจับประเด็นธรรมที่สำคัญ และจำเป็นต่อชีวิต เช่น ความจริงของชีวิตในเรื่องขันธ์ ๕, อายตนะ และอริยสัจ ๔ เป็นต้น จากพระไตรปิฎกที่หลายคนว่ายาก ท่านสามารถนำมาอธิบายทำให้กลายเป็นของง่าย จากของสูงที่เอื้อมไม่ถึง ทำให้กลายเป็นของจำเป็นในชีวิตที่ขาดไม่ได้ จากเรื่องน่าเบื่อของคนในวัด ทำให้กลายเป็นเรื่องสนุกที่ทุกชีวิตต้องรู้ ด้วยเทคนิคการสอนที่ทำให้ธรรมะเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย ด้วยการหยิบยกเรื่องราวชีวิตจริงมาเป็นตัวอย่างในการสอน หรือใช้เทคนิคสร้างเรื่องสมมติขึ้นเพื่อประกอบการสอน ทำให้พระธรรมคำสอนมีชีวิตชีวา นอกจากนั้น ท่านยังเน้นเทคนิคให้เกิดการจดจำธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ความจำธรรมที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติในธรรม” ด้วยวิธีการสรุปธรรมเป็นประเด็นสำคัญสั้นๆ ใช้สำนวนภาษาที่ทันสมัย เข้าใจง่าย และใส่จังหวะ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ เพื่อให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมในการจดจำ ด้วยการเปล่งกล่าวธรรมตามคำบอก อีกทั้งท่านยังใช้เทคนิคกระตุ้นให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการเรียนรู้พระธรรม ด้วยการตั้งคำถามให้ผู้ฟังช่วยคิดหาคำตอบหรือแสดงความเห็น เป็นต้น
♥ ผลงานการเผยแผ่ธรรม
– ภารกิจในการแสดงธรรมและอบรมปฏิบัติธรรม
ด้วยกิตติศัพท์ของความเป็นนักเทศน์ดังมีคุณสมบัติที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็ติดต่อขอรับการฟังธรรมและอบรมปฏิบัติธรรมจากท่านภิกษุณีนันทญาณี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมา เมื่อครั้งท่านยังเป็นแม่ชีผู้บวชใหม่ ก็เริ่มมีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาขอรับการอบรมธรรมจากท่านเป็นประจำ จนกระทั่งได้เริ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้ชัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ติดต่อขอเข้ารับการอบรมธรรมกระทั่งถึงปัจจุบันนับได้ ๗๐ กว่ารุ่น มีผู้ได้รับประโยชน์ในธรรมตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ ผู้ว่าการ กฟผ., รองผู้ว่าการ กฟผ., ผู้อำนวยการเขื่อน และเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ จำนวนกว่า ๗,๐๐๐ คน
พระครูปริยัติยานุศาสน์ (พระมหา ดร.ไสว เทวปุญฺโญ) รองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ (ฝ่ายการเผยแผ่) หัวหน้าสาขาวิชาพระพุทธศาสนาและสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้มีเมตตาเปิดโอกาสให้ท่านภิกษุณีนันทญาณี เป็นอาจารย์พิเศษถวายความรู้ให้แก่พระนิสิตระดับต่างๆ รวมทั้งพระนิสิตปริญญาโท มาเป็นเวลานานกว่า ๘ ปี จนกระทั่งปัจจุบัน อีกทั้งพระครูปริยัติยานุศาสน์ยังได้นำคณะพระนิสิต มจร. ระดับต่างๆ มาทัศนศึกษาและสนทนาธรรมกับท่านภิกษุณีนันทญาณี ณ สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม ตลอดจนยังได้นำสื่อบันทึกการแสดงธรรมของท่านภิกษุณีนันทญาณี ไปเผยแผ่ผ่านรายการวิทยุธรรมะที่ท่านดูแลอยู่ด้วย
นอกจากนี้แล้วยังมีวัด สำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ทั่วสารทิศ ได้นิมนต์ท่านไปเป็นวิทยากรบรรยายธรรมะอีกหลายที่ตามเหตุปัจจัย เช่น วัดร่ำเปิง (วัดตโปทาราม) จ.เชียงใหม่, วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จ.เชียงใหม่, วัดทิพวนาราม จ.เชียงใหม่, วัดวังหิน จ.ลำปาง, วัดในท้องถิ่นสำนักปฏิบัติธรรมอยู่สุขเจริญ จ.ตาก, วัดป่าบ้านพันลำ จ.หนองคาย, วัดป่าบ้านแก้ง จ.อุบลราชธานี และสวนป่าศรัทธาธรรม จ.ขอนแก่น เป็นต้น
รวมถึง หน่วยงานกองกับการตำรวจตะเวนชายแดนที่ ๓๓ ค่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี จ.เชียงใหม่, องค์การบริหารส่วนตำบลสันทราย จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลสวนดอก จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลจอมทอง จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลแม่ทะ จ.ลำปาง, โรงพยาบาลลี้ จ.ลำพูน, โรงพยาบาลบ้านธิ จ.ลำพูน, โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยพายัพ, มหาวิทยาลัยนเรศวร, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่และลำปาง, วิทยาลัยการอาชีพจอมทอง จ.เชียงใหม่ ตลอดจน สถานศึกษาโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนจอมทอง, โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย, โรงเรียนเรยีนา และโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
– ภารกิจในการเผยแผ่ธรรมผ่านสื่อต่างๆ
สาธุชนผู้เห็นคุณค่าในพระธรรมหลายท่านได้นำสื่อบันทึกการแสดงธรรมของท่านภิกษุณีนันทญาณี ไปเผยแผ่ผ่านรายการทางสถานีวิทยุต่างๆ อาทิเช่น รายการ “ร่มธรรม-ร่มใจ” ทางคลื่นเชียงใหม่ เรดิโอ FM ๙๓.๗๐ Mhz โดยมีคุณศรีสุดา ชวชาติ เป็นผู้จัดรายการ ที่ขวนขวายนำสื่อธรรมะจากสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธารามไปเผยแผ่ออกอากาศเป็นประจำทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๖.๐๐-๐๗.๐๐ น. อีกทั้งยังมีสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึง วิทยุชุมชนจากหลายสถานีได้ขอนำสื่อธรรมะไปออกอากาศเผยแผ่ทางสถานีวิทยุ
ตลอดจน มีพระภิกษุสงฆ์ไทยหลายรูปได้ให้เกียรตินำสื่อธรรมะทั้งหนังสือ และสื่อบันทึกการแสดงธรรมของท่านภิกษุณีนันทญาณี ไปเผยแผ่ผ่านสื่อต่างๆ ดังเช่น พระภิกษุสงฆ์ไทยจากต่างแดน ดร.พระมหาจรรยา สุทฺธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธิปัญญา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นวัดสาขาของวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ก็ได้ให้เกียรตินำสื่อธรรมะดังกล่าวไปเผยแผ่ยังประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังมีสาธุชนได้นำสื่อธรรมะของท่านไปเผยแผ่สู่ประเทศออสเตรียอีกด้วย
นอกจากนี้แล้ว พระอาจารย์สมบัติ สัมปัตติธารโก ประธานสงฆ์แห่งวัดป่าบ้านพันลำ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ได้นำสื่อบันทึกการแสดงธรรมของท่านไปเปิดออกอากาศทางรายการวิทยุชุมชน ณ วัดป่าบ้านพันลำ (ซึ่งการกระจายเสียงได้ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในประเทศลาว ต่อมาได้มีพระภิกษุลาวเดินทางมากราบเรียนพระอาจารย์สมบัติว่า ได้รับประโยชน์จากรายการนี้) และ พระครูสังฆรักษ์ณัฏฐากร ณฏฺฐกโร แห่งวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก็ได้นำสื่อบันทึกการแสดงธรรมของท่านไปเผยแผ่ผ่านทางรายการสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดเชียงใหม่ ทางคลื่น FM ๙๖.๐ Mhz เป็นต้น
• การเดินทางมายังสำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม •
(1) จากสนามบินเชียงใหม่
1.1 นั่งรถสองแถว (สีแดง) มายังคิวรถจอมทอง (ประตูเชียงใหม่) 20 บาท
1.2 นั่งรถสองแถวเชียงใหม่-จอมทอง (สีเหลือง) มาลงตลาดจอมทอง 32 บาท
1.3 นั่งรถสามล้อพ่วง มายังนิโรธาราม 40 บาท
(2) จากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่
2.1 นั่งรถจากสถานีขนส่งสายเหนือ มาลงที่สถานนีขนส่งเชียงใหม่ ราคาประมาณ 500-800 บาท
2.2 นั่งรถสองแถว (สีแดง) มายังคิวรถจอมทอง (ประตูเชียงใหม่) 20 บาท
2.3 นั่งรถสองแถวเชียงใหม่-จอมทอง (สีเหลือง) มาลงตลาดจอมทอง 32 บาท
2.4 นั่งรถสามล้อพ่วง มายังนิโรธาราม 40 บาท
(3) จากกรุงเทพฯ ถึงจอมทอง
3.1 นั่งรถที่สถานีขนส่งสายเหนือ กรุงเทพฯ-จอมทอง ในราคาเที่ยวละ 500 บาท มาลงหน้าตลาดจอมทอง
3.2 นั่งรถสามล้อพ่วง มายังนิโรธาราม 40 บาท
(4) จากสถานีรถไฟเชียงใหม่
4.1 นั่งรถไฟมาลงที่สถานีรถไฟเชียงใหม่
4.2 นั่งรถสองแถว (สีแดง) มายังคิวรถจอมทอง (ประตูเชียงใหม่) 20 บาท
4.3 นั่งรถสองแถวเชียงใหม่-จอมทอง (สีเหลือง) มาลงตลาดจอมทอง 32 บาท
4.4 นั่งรถสามล้อพ่วง มายังนิโรธาราม 40 บาท
หมายเหตุ :: – รถสามล้อพ่วงลุงสม โทรศัพท์ 086-192-7492 – รถสามล้อพ่วงนายรุจ โทรศัพท์ 087-192-4833
(5) เดินทางโดยรถส่วนตัว ศึกษาตามแผนที่ข้างต้น
สาธุ รายละเอียดการเดินทาง
เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 11 ถึงทางแยกเข้าดอยติหรือแยกเข้าเมืองลำพูน ให้เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 1033 ข้ามทางรถไฟไปตามเส้นทางจนถึงไฟแดง ให้เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 116 ตรงไปตามเส้นทางจนถึงสามแยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 106 ผ่าน วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลําพูน ไปจนถึงสามแยกไฟแดง ให้เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 1031 ไปจนถึงสามแยกบ้านเวียงหนองล่อง ให้เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 1010 ไปจนถึงสามแยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 108 ไป จนถึงที่ว่าการอำเภอจอมทอง ให้เลี้ยวขวาไปข้างที่ว่าการอำเภอจอมทอง จะมีป้ายบอกเป็นระยะๆ จนถึง สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม (ส่วนเส้นทางขากลับก็ให้ย้อนทางเดิม)
ที่มา : เวปธรรมจักร
Comments