เรื่องสวดมนต์นี้ไม่ได้เป็นเรื่องไสยศาสตร์หรือขัดต่อหลักการเจริญธรรมะแต่อย่างใดนะครับ ผู้ที่อ่านหนังสือธรรมะมามากบางคนจะไม่เข้าใจ คิดว่า การไปนั่งสมาธิ หรือ การฟังธรรมเท่านั้นเป็นหลักการของศาสนา การสวดมนต์นั้นไม่ใช่หลักการที่ดี ความคิดนี้ผมเคยอธิบายไว้ในบทความเรื่อง
โมรปริตร.. พรหมมนต์ป้องกันภัย
“…ด้วยว่า ผู้สวดพระปริตร กล่าวผิดอรรถบ้าง ผิดบาลีบ้าง หรือว่าสวดไม่คล่องเสียเลย พระปริตรก็ไม่มีเดช ท่านผู้สวดได้คล่องแคล่วชำนิชำนาญเท่านั้น พระปริตรจึงมีเดช
ถึงแม้ผู้ที่เล่าเรียนพระปริตรแล้วสวด เพราะเห็นแก่ลาภสักการะ พระปริตรนั้นก็หาอำนวยประโยชน์ไม่ ท่านที่ตั้งใจจะช่วยให้พ้นทุกข์ มีเมตตาจิตเป็นปุเรจาริกแล้วสวดนั่นแล พระปริตรจึงจะอำนวยประโยชน์…”
ท่านพระพุทธโฆสเถระ สุมงฺคลวิลาสินี ตติยภาค
…ประมาณปี พ.ศ. 2487 ขณะนั้น ขบวนการเสรีไทยกำลังโด่งดังมาก บ้านหนองผือเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ขบวนการเสรีไทยเข้าไปตั้งค่ายฝึกอบรมครูและชาวบ้านเพื่อเป็นกองกำลังต่อสู้ขับไล่ทหารญี่ปุ่น
คุณครูหนูไทย สุพลวานิช เป็นอีกผู้หนึ่งที่ถูกเกณฑ์เข้าฝึกอบรมในค่ายนี้ เมื่อว่างจากการฝึก มีโอกาสพักผ่อนตามอัธยาศัย ก็พูดคุยเฮฮากับหมู่เพื่อนร่วมค่าย หลายเรื่องราวรวมถึงเรื่องเครื่องรางของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นธรรมดาของคนเรา เมื่ออยู่ในภาวะการณ์เช่นนี้ ย่อมต้องการแสวงหาสิ่งพึ่งพิงทางใจเพื่อป้องกันภัยอันตรายที่อาจจะมาถึงตัว
มีเพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ท่านพระอาจารย์ใหญ่วัดป่าบ้านหนองผือ (หมายถึงท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) ทราบว่าท่านเป็นพระดีองค์หนึ่ง พวกเราน่าจะลองไปขอของดีจากท่านดูบ้าง ท่านคงจะให้พวกเรา” พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ด้วยคำพูดของเพื่อน ทำให้คุณครูหนูไทยนำกลับไปคิด วันต่อมา คุณครูหนูไทยหาแผ่นทองมาได้แผ่นหนึ่ง ตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แล้วให้โยมผู้เฒ่าทายกวัดที่เป็นญาตินำไปถวายท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อให้ท่านทำหลอดยันต์ให้ โยมผู้ที่นำแผ่นทองนั้นไม่กล้าเข้าไปหาท่านพระอาจารย์มั่นโดยตรง จึงให้พระอุปัฏฐากเข้าไปลองถามท่านดูก่อน ท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดตอบพระอุปัฏฐากว่า “เขาอยากได้ กะเฮ็ดให้เขาสั้นตั๊ว (หมายความว่า เขาต้องการก็ทำให้เขาได้ จะเป็นไรไป) เมื่อพระอุปัฏฐากเข้าใจแล้ว จึงบอกให้โยมเอาแผ่นทองมาให้ท่าน รออยู่ประมาณสามวัน พระอุปัฏฐากท่านก็นำหลอดยันต์นั้นมาให้โยม แล้วโยมผู้เฒ่านั้นจึงนำมาให้คุณครูหนูไทยอีกทีหนึ่ง คุณครูหนูไทยเมื่อได้ของดีแล้วก็ดีใจเป็นอย่างมาก เก็บรักษาด้วยความทะนุถนอม และนำติดตัวไปทุกสถานที่
วันหนึ่ง ว่างจากการฝึกอบรม คุณครูหนูไทยได้เดินเที่ยวเล่นไปด้านหลังสนาม เผอิญเหลือบไปเห็นเพื่อนสามสี่คนกำลังทดลองยิง “เขี้ยวหมูตัน” ด้วยอาวุธปืน ปรากฏว่า “เขี้ยวหมูตัน” ที่ถือว่าเป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์นั้นแตกกระจายไปคนละทิศละทาง เพื่อนคนที่เป็นเจ้าของเขี้ยวหมูตันนั้นถึงกับหน้าถอดสี ส่วนเพื่อนที่เป็นคนยิงคงจะย่ามใจ หันมาถามคุณครูหนูไทยที่เดินเข้ามาสมทบทีหลังว่า “มีของดีอะไรมาลองบ้าง” ด้วยความซื่อและความเป็นเพื่อน คุณครูหนูไทยจึงตอบไปว่า “มีอยู่” เท่านั้นแหละ เพื่อนคนนั้นก็เอามือล้วงกระเป๋าเสื้อของคุณครูหนูไทย หยิบตะกรุดยันต์ที่ท่านพระอาจารย์มั่นทำให้ ติดมือขึ้นมา คุณครูหนูไทยจะวอนขออย่างไร เขาก็ไม่ยอมคืนให้
ในที่สุด เขาก็นำตะกรุดยันต์ไปวางในที่ระยะห่างประมาณสัก 3-4 วา แล้วยกปืนขึ้นเล็งไปที่ตะกรุดยันต์นั้น สักครู่ได้ยินเสียงดัง “แชะ แชะ” ไม่ระเบิด ทุกคนที่อยู่ตรงนั้นต่างตกตะลึง ครั้งที่สาม เขาลองหันปลายกระบอกปืนขึ้นบนฟ้าแล้วกดไกอีกครั้ง ปรากฏว่าเสียงปืนดังสนั่นไปทั่วบริเวณ ส่วนคุณครูหนูไทยรู้สึกตัว ใช้จังหวะนั้นวิ่งเข้าไปหยิบตะกรุดยันต์คืนมาอย่างรวดเร็ว
ต่อมา บางคนที่ได้ทราบข่าวนี้ก็พากันไปขอของดีจากท่านพระอาจารย์มั่นที่วัด ส่วนมากจะได้เป็นแผ่นผ้าลงอักขระคาถาตัวยันต์ สำหรับตะกรุดแผ่นทองนั้นไม่ค่อยมี เพราะแผ่นทองสมัยนั้นหายากมาก ต่อมาไม่นาน ท่านพระอาจารย์มั่นคงเห็นว่ามากไปจนเกินเลย จึงบอกให้เลิก ท่านบอกว่า สงครามเขาจะสงบแล้ว ไม่ต้องเอาก็ได้ พวกตะกรุดยันต์ ผ้ายันต์เหล่านั้น เป็นของภายนอก สู้เอาคาถาบทนี้ไปบริกรรมแนบกับใจไม่ได้ ให้บริกรรมทุกเช้าค่ำจนขึ้นใจ แล้วจะปลอดภัย อันตรายต่าง ๆ จะไม่มากล้ำกรายตัวเราได้เลย คาถาบทนั้นว่าดังนี้
“นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา”
ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านหนองผือก็ไม่กล้าไปขอของดีจากท่านอีก และเป็นความจริงตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นพูด ไม่ถึงเจ็ดวัน ก็ได้ทราบข่าวว่า เครื่องบินทหารอเมริกันไปทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิม่าและเมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ย่อยยับจนในที่สุด ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม และสงครามโลกก็สงบจบสิ้นลง
คำภาวนา “นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา” นี้ มีความหมายว่า “ขอนอบน้อมท่านผู้หลุดพ้นแล้ว (จากกิเลส) ทั้งหลาย ขอนอบน้อมวิมุตติธรรม (ธรรมอันหลุดพ้นคือพระนิพพาน)”
บทเต็มของคำภาวนานี้ คือบท “โมรปริตร” ที่ว่า
อุเทตะยัญ จักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ คุตตา วิหะเร มุทิวะสัง
เย พรามมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปริตตัง กัตตะวา โมโร จะระติ เอสะนา
อะเปตะยัญ จักขุมา เอกะราชา (เหมือนข้างต้น เปลี่ยน “อุเทตะยัญ” เป็น “อะเปตะยัญ”) หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส (เหมือนข้างต้น) ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง (เหมือนข้างต้น) ตะยัชชะ คุตตา วิหะเร มุรัตติง (เหมือนข้างต้น เปลี่ยน “มุทิวะสัง” เป็น “มุรัตติง”)
เย พรามมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม (เหมือนข้างต้น) เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ (เหมือนข้างต้น) นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา (เหมือนข้างต้น) นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา (เหมือนข้างต้น) อิมัง โส ปริตตัง กัตตะวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ (เหมือนข้างต้น เปลี่ยน “จะระติเอสะนา” เป็น “วาสะมะกัปปะยีติ”)
บทสวดโมรปริตร มีตำนานเล่าว่า ครั้งอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกยูง มีสีเหมือนสีทอง ทุก ๆ รุ่งเช้า นกยูงทองจะขึ้นไปบนยอดเขาสูง เฝ้ามองดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วกล่าวนมัสการพระอาทิตย์กำลังอุทัย กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระคุณของพระองค์ เสร็จแล้วจึงออกเที่ยวหาอาหาร
ครั้นตกเย็น นกยูงทองนั้นจะกลับขึ้นไปบนยอดเขาสูง เฝ้ามองดูดวงอาทิตย์กำลังตก แล้วกล่าวนมัสการพระอาทิตย์กำลังอัสดง กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งเสด็จปรินิพพานแล้วพร้อมทั้งพระคุณของพระองค์ด้วย แล้วก็เข้าพักผ่อน
ด้วยอานุภาพพระปริตรที่กล่าวนมัสการอยู่ทุกเช้าทุกเย็นเช่นนี้ นกยูงทองก็อยู่เป็นสุขและปลอดภัยมาช้านาน
ครั้นภายหลัง มีพรานผู้หนึ่ง ท่องเที่ยวไปในป่าหิมพานต์ ได้พบเห็นนกยูงทองจึงเล่าให้บุตรชายของตนฟัง ต่อมาพระมเหสีของพระเจ้าพาราณสีทรงพระสุบินเห็นนกยูงทองแสดงธรรมถวายแก่พระนาง พระนางปรารถนาจะได้สดับธรรมของนกยูงทองเหมือนดังในความฝัน จึงกราบทูลพระเจ้าพาราณสีให้จับตัวนกยูงทองนั้นมา บุตรชายนายพรานทราบที่อยู่ของนกยูงทอง จึงรับอาสา แต่พยายามอยู่ถึงเจ็ดปี ก็จับนกยูงทองนั้นไม่ได้ จนตนเองตายอยู่ในป่า พระมหสีของพระเจ้าพาราณสีก็มิได้ทรงสดับพระธรรมจนสิ้นพระชนม์
พระเจ้าพาราณสีทรงอาฆาตว่า พระมเหสีของพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์เพราะนกยูงทอง จึงโปรดให้จารึกอักขระลงลานทองว่า ในป่าหิมพานต์มีภูเขาชื่อฑัณฑกหิรัญ มีนกยูงทองอาศัยอยู่ ผู้ใดได้กินเนื้อของนกยูงทอง ผู้นั้นจะมีอายุยืน ไม่แก่ไม่ตาย จากนั้นโปรดให้บรรจุลานทองจารึกนั้นใส่ในผอบสุวรรณเก็บรักษาไว้
เมื่อพระเจ้าพาราณสีพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว พระราชาองค์อื่น ๆ ถัดมาได้อ่านจารึกลานทองนั้น ก็ปรารถนาจะไม่แก่ไม่ตาย จึงส่งนายพรานออกไปจับนกยูงทอง พยายามอยู่หลายปีก็จับไม่ได้ จนพรานทั้งหลายตายอยู่ในป่า เป็นดังนี้สืบมาถึงหกชั่วพระราชา
ครั้นถึงรัชสมัยพระเจ้าพาราณสีองค์ที่เจ็ด ก็ส่งนายพรานออกไปอีก พรานผู้นี้ทราบเรื่องที่นกยูงทองเหยียบบ่วงแล้วแต่บ่วงกลับไม่คล้องเท้า ทั้งทราบอีกว่านกยูงทองร่ายพระปริตรป้องกันตัวทุกเช้าค่ำ จึงจับนกยูงตัวเมียมาตัวหนึ่งเอามาฝึกหัดให้ฟ้อนรำขับร้องจนชำนาญดีแล้วก็นำติดตัวไปด้วย
เช้าวันหนึ่งก่อนนกยูงทองจะร่ายพระปริตร นายพรานได้ปักหลักทอดบ่วงไว้เสร็จแล้วให้นางนกยูงขับร้องขึ้นด้วย ฝ่ายนกยูงทองได้ยินเสียงมาตุคามก็มีใจเร่าร้อนด้วยกิเลส มิสามารถร่ายพระปริตรได้เช่นเคย แล่นถลันเข้าไปหา เลยติดบ่วงนายพราน ถูกจับตัวนำไปถวายพระเจ้าพาราณสี
พระโพธิสัตว์นกยูงทองได้ทูลพระเจ้าพาราณสีว่า ชาติก่อนตนเคยเป็นพระราชาจักรพรรดิอยู่ในพระนครนี้เช่นกัน และได้เคยประทับรถพระที่นั่งประดับด้วยรัตนะเจ็ดประการ ซึ่งรถคันดังกล่าวฝังอยู่ใต้สระมงคลโบกขรณี เมื่อพระเจ้าพาราณสีไขน้ำออกจากสระก็พบราชรถจริงและทรงเชื่อคำพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์จึงแสดงธรรมถวายพระเจ้าพาราณสี เป็นความว่า “ดูกร มหาราชะ นอกจากอมตะมหานิพพานแล้ว สิ่งทั้งหลายนอกนั้น ล้วนเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งขึ้น เป็นของไม่ยั่งยืนถาวร เพราะมีขึ้นแล้วก็หามีไม่ เป็นของสิ้นไปเสื่อมไปโดยธรรมชาติ” แล้วทูลให้พระเจ้าพาราณสีรักษาศีลห้า ถวายโอวาทกำชับว่าขอพระองค์ทรงอย่าประมาท หลังจากพักอยู่สองสามราตรี ก็บินขึ้นสู่อากาศ กลับไปยังภูเขาทัณฑกหิรัญตามเดิม
พระโบราณจารย์ได้นำเอาโมรปริตรมาใช้เป็นบทสวด กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมพระพุทธคุณมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี ผู้ใดภาวนาเป็นประจำ จะแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทังปวง บทสวดโมรปริตรมีความหมายว่า
“พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลก เป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีสีงามดั่งทอง ส่องแสงทำให้พื้นปฐพีสว่างไสว ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์ ผู้ทรงรัศมีสีทอง สาดส่องปฐพีให้สว่างนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายอันท่านให้ความอบอุ่นและคุ้มครอง พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน
พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ซึ่งรู้ในธรรมทั้งปวง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงได้รับความนอบน้อมจากข้าพเจ้า และช่วยรักษาข้าพเจ้าให้อยู่เย็นเป็นสุข ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมพระโพธิญาณ ขอนอบน้อมท่านผู้หลุดพ้นแล้ว (จากกิเลส) ทั้งหลาย ขอนอบน้อมวิมุตติธรรม (ธรรมอันหลุดพ้นคือพระนิพพาน) เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้ว จึงออกแสวงหาอาหาร
พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลก เป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีสีงามดั่งทอง ส่องแสงทำให้พื้นปฐพีสว่างไสว ย่อมอัสดงคตไป ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์ ผู้ทรงรัศมีสีทอง สาดส่องปฐพีให้สว่างนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายอันท่านให้ความอบอุ่นและคุ้มครอง พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน
พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ซึ่งรู้ในธรรมทั้งปวง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงได้รับความนอบน้อมจากข้าพเจ้า และช่วยรักษาข้าพเจ้าให้อยู่เย็นเป็นสุข ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมพระโพธิญาณ ขอนอบน้อมท่านผู้หลุดพ้นแล้ว (จากกิเลส) ทั้งหลาย ขอนอบน้อมวิมุตติธรรม (ธรรมอันหลุดพ้นคือพระนิพพาน) เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้ว จึงนอน”
Comments