top of page
รูปภาพนักเขียนหมอซินแส

๔ พฤษภาคม วันสำคัญของปีนี้ และเป็นวันสำคัญเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว

ปีนี้ พ.ศ.๒๕๖๒ มีข่าวสำคัญข่าวนึงที่คิดว่าประเทศไทยต้องจารึกเอาไว้อีกนาน ก็คือ การประกาศวันบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ในวันที่ ๔ – ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ก็เลยนึกอยากเขียนบทความเพื่อเป็นที่ระลึกในวันสำคัญอันจะเกิดขึ้นเช่นนี้ ที่สำคัญเพราะชั่วชีวิตหนึ่งของใครบางคนอาจเคยได้เห็นแค่สองครั้ง คือ ครั้งแรกในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ราวๆ ๗๐ ปีที่แล้ว กับอีกครั้งหนึ่งคือ ครั้งนี้ ซึ่งแปลว่าท่านคงมีวัยอาวุโสราวๆ ๘๐ กว่าๆ ถึงเฉียดร้อยปีแล้ว แต่สำหรับอีกหลายๆคน นี่เป็นครั้งแรกของชีวิตที่จะได้เห็นงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผมก็หนึ่งในนั้น เป็นข้อน่าสังเกตว่า วันบรมราชาภิเษกของทั้งสองพระองค์ สองรัชกาล ตรงกันคือวันที่ ๔ พฤษภาคม เมื่อเขียนเป็นปีปฏิทินแบบจีนแล้ว พ.ศ.๒๔๙๓ ตรงกับปี ดินหยินฉลู 己丑年 พ.ศ. ๒๕๖๒ ตรงกับปี ดินหยินกุน 己亥年 วันสำคัญๆเช่นนี้ ชวนให้ผมนึกถึงสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นอกจากจารึกพระสุพรรณบัตรพระปรมาภิไธยแล้ว ก็จะมีการสร้าง ตราประทับประจำพระองค์พระเจ้าอยู่หัว หรือ ตราพระราชลัญจกร ซึ่งเชื่อว่าบ้านใครที่คนในบ้านเคยรับราชการ หรือเคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คงจะเคยเห็นรอยตราประทับด้วยชาติ แต่อาจไม่ได้สังเกต

ตามหลักฐานของไทยเรา ผมเชื่อว่าเรารับอิทธิพลเรื่องตราประทับมาจากจีน เนื่องจากมีการติดต่อกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยยาวนานมา จีนเป็นชาติแรกที่ประดิษฐ์กระดาษได้และตราประทับก็เป็นตราที่ใช้กับกระดาษ โดยทำด้วยวัสดุของแข็งอันมีค่า เช่น ทอง เงิน โลหะอื่นๆ อาจประดับอัญมณี ตลอดจน หยก หินมีค่า การจะประทับนั้นอาศัยความเหนียวของสิ่งที่เรียกว่า ชาด อันเป็นที่มาของ ตลับชาด แบบที่เราใช้กันในปัจจุบันต่างกันตรงที่ว่า ชาดที่คุณใช้กันนั้น ทำด้วยผ้าบุฟองน้ำมีสปริงด้านล่างชุ่มไปด้วยน้ำหมึกสีแดง แต่ชาดของโบราณซึ่งยังคงใช้ประทับตราของจีนมาจนสมัยนี้ และใช้ประทับตราพระราชลัญจกรด้วย เป็นส่วนผสมของพืชพรรณและวัตถุธาตุธรรมชาติตามกรรมวิธีของศิลปินแต่ละคนจะปรุงชาดนี้ออกมา ลักษณะที่มีร่วมกันคือ ความเหนียวคล้ายๆดินเหนียว เหตุนี้ชาดจึงถูกเรียกชื่อว่า 印尼 ยิ่งหนี แปลตรงตัวว่า ดินเหนียวสำหรับใช้ประทับตรา

สมัยก่อนสยามเราถือเอาตราประทับเป็นสำคัญ ไม่มีการเซ็นต์ชื่อ

จากหนังสือ พระราชลัญจกร โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 
ข้อความนี้เขียนเล่าไว้โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์

จากหนังสือ พระราชลัญจกร โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ข้อความนี้เขียนเล่าไว้โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์

ทุกวันนี้ จีน ยังคงถือเอาตราประทับเป็นสิ่งแทนคำตกลง หรือแทนการรับรองจากเจ้าของให้ความสำคัญมากกว่า ลายเซ็นชื่อ ถ้าเรามาคิดดีๆเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยแบบโบราณที่ ปลอดภัยและตรวจสอบได้ง่าย ใช้ตราประทับ ย่อมมีประสิทธิภาพกว่า ลายเซ็นต์ เพราะสามารถพิสูจน์เอกลักษณ์เฉพาะได้แน่ชัดกว่า พอๆกับลายพิมพ์นิ้วมือ เพราะลายเซ็นต์บางทีคนๆเดียวเซ็นต์แต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลยก็มี นี้เป็นนวัตกรรมที่น่าทึ่ง อย่างแรก อย่างที่สองคือ การแกะสลักบนของแข็งแล้วใช้ของเหนียวคือชาด ประทับให้เกิดรอยตราสีแดง หรือสีชาด ทำให้ได้รายละเอียดที่คมชัด เนื่องจากถ้าเป็นตรายาง จะง่ายต่อการซึม เลอะ เลือน หรือตัวยางนั้นเยิน เส้นสายที่ได้จะแตกพร่าไป อายุการใช้งานและประสิทธิภาพของตราประทับที่ทำแบบโบราณ จึงอยู่ยาวนานกว่า ยาวนานเป็นพันปีก็มี เช่นตราประทับของฮ่องเต้ของจีนที่ทุกวันนี้ยังมีเก็บไว้ให้ได้ชม

ไทยเราก็มีตราประทับ เก็บไว้ให้ได้ชม วันนี้ผมเลยถือโอกาสหาภาพมาให้ชม แต่ขอบอกก่อนเผื่อมีคนถามว่า ทำไมไม่มีของรัชกาลที่ ๑ ๒ และ ๓ ก็ขอตอบว่า ในสมัยนั้นหาหลักฐานตราประจำพระองค์ที่เป็นรูปรอยตราไม่พบ พบแต่ตราแผ่นดิน หรือตราประทับเอกสารสำคัญ เพียงแต่มีสัญลักษณ์ประจำพระองค์หรือประจำรัชกาล ประทับบนเงินพดด้วง เท่านั้น และรัชกาลที่ ๔ ท่านเป็นผู้ริเริ่มจัดระบบการใช้ตราประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน และประจำตัวขึ้นมา เป็นพระองค์แรก เอาหละ เชิญชม ดังนี้

เล่าแบบย่อๆ ตราพระราชลัญจกรที่สำคัญๆมีอยู่สองกลุ่มคือ ตราประจำแผ่นดิน และตราประจำพระองค์ หรือตราประจำรัชกาล ซึ่งปัจจุบันนี้ตราประจำแผ่นดินของประเทศไทยเรา เป็นตราพระครุฑพ่าห์ มีข้อความล้อมรอบเป็นพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน ซึ่งรูปแบบตราเช่นนี้มีปรากฎครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยถือจารีตตามอย่างกรุงศรีอยุธยา เพราะไม่โปรดตราอาร์มเหตุว่าเป็นฝรั่งไป โดยมีการปรับเปลี่ยนครุฑพ่าห์เดิมของอยุธยาที่จับนาคเอาไว้ กรมพระยานริศฯได้ออกแบบใหม่ไม่มีนาค เล่าว่า เหมือนครุฑต้องหิ้วของที่ตัวเองจับกินไปๆมาๆ ดูตะกละตะกลาม เลยให้เอาออก ส่วนการกำหนดตราแผ่นดินขึ้นนั้น มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว เรียกว่า ตราอาร์ม อันเป็นตราที่โรงเรียนนายร้อยใช้มาจนถึงปัจจุบัน รัชกาลต่อๆมา ก็ได้ใช้ตราประจำแผ่นดินพระครุฑพ่าห์ เป็นตราประจำแผ่นดินประจำแต่ละรัชกาลสืบมาจนถึงรัชกาลที่ ๙

พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔

พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔

พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕

พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕

ตราแผ่นดิน หรือตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน สมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกว่า ตราอาร์ม

เดิม พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ ประจำรัชกาลที่ ๙ เป็นตราที่ทำด้วย งาช้าง แต่ด้วยการใช้งานและระยะเวลาอันนาน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ทำการจัดสร้างใหม่ด้วยทองคำแท้ตามรูปลักษณ์ตรางาช้างเดิม เป็นพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ทองคำ เนื่องในวโรกาสฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก

ตราพระครุฑพ่าห์ประจำแผ่นดินรัชกาลที่ ๙ ตรางา

ภาพขบวนแห่เชิญ พระสุพรรณบัฏ (แผ่นทองคำจารึกพระนาม) ดวงพระบรมราชสมภพ (ดวงชะตาของพระมหากษัตริย์จารึกบนแผ่นทองบรรจุในเต้าทองคำลงยาประดับอัญมณี) และพระราชลัญจกร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เมื่อราว ๗๐ ปีที่แล้ว ซึ่งจะมีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๑๐ ในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่จะถึงนี้

สยามประเทศเรามีความผาสุข ร่มเย็น มีความเจริญสืบมา ก็ด้วยพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระมหากษัตริย์ทุกๆพระองค์สืบมา ตราพระราชลัญจกร ตลอดจนพระปรมาภิไธยย่อ และพระบรมฉายาลักษณ์ของทุกๆพระองค์ เป็นที่สถิตแห่งความรำลึกพระคุณยิ่งแห่งพสกนิกรตราบนาน

ภาพประกอบทั้งหมด จากหนังสือ พระราชลัญจกร โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับตราพระราชลัญจกร และตราประจำกระทรวงสมัยโบราณได้ที่ http://www.finearts.go.th/nakhonsithammaratlibrary/2015-05-30-15-26-04/book/93.html?page=1

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

ลูกตุ้มโมเมนตั้ม ช่วยในเรื่องของฮวงจุ้ยในการอ่านหนังสือได้

จากคำถามที่มีผู้ถามมาว่า ขออนุญาตสอบถามเกี่ยวกับ ลูกตุ้มโมเมนตั้ม นะคะ คือดิฉันไปได้ยินมาว่า สามารถช่วยในเรื่องของฮวงจุ้ยในการอ่านหนังส...

เลขมงคลประจำยุคนี้

พูดตรงๆนะ ผมไม่ใช่คนเรียบร้อยผ้าพับไว้ ผมไปเห็นบางคนบางท่านผมก็ยังนึกดีใจ ชื่นชม และบางทีก็ละอายใจ ว่า เขาเรียบร้อย หรือ...

コメント


bottom of page